รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ขับเคลื่อนแผนพัฒนากำลังคน ให้มีความรู้และทักษะฝีมือรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve สู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ
1 ตุลาคม 2563 ศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการพัฒนาแรงงานและการประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช.) ครั้งที่ 1/2563 ณ ห้องประชุม 109 ชั้น 1 สำนักงานปลัดนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล เพื่อรับทราบการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการที่อยู่ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช.) รวมถึงร่วมพิจารณาแนวทางการจัดทำแผนพัฒนากำลังคนรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve ปี พ.ศ. 2564-2565 ของหน่วยงานที่มีภารกิจด้านการจัดการศึกษาและการฝึกอบรมของส่วนราชการ ตลอดจนแนวทางการพัฒนาอาชีพคนพิการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 และกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม โดยกล่าวว่า
กพร.ปช มีหน้าที่กำหนดนโยบายและแนวทางในการพัฒนาแรงงานรวมถึงประสานงานการฝึกอาชีพของผู้อยู่ในกำลังแรงงานทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐ ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ตลอดจนเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคเกี่ยวกับการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพ โดยเฉพาะการเพิ่มทักษะด้านภาษาเพื่อการสื่อสาร เพื่อให้เกิดการผลักดันการไปทำงานกับต่างประเทศ รวมถึงให้กระทรวงแรงงานเพิ่มการบูรณาการของทุกกระทรวง โดยเฉพาะกระทรวงที่ต้องการใช้แรงงาน เพื่อให้ทราบจำนวนความต้องการด้านแรงงานที่แท้จริง
ศาสตราจารย์ นฤมล กล่าวเพิ่มเติมว่า ในระหว่างปี 2561 - 2563 คณะอนุกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพจังหวัด (กพร.ปจ.) ซึ่งเป็นคณะอนุกรรมการภายใต้การดำเนินงานของ กพร.ปช. สามารถพัฒนากำลังแรงงานได้กว่า 19 ล้านคน เป็นการสร้างแรงงานใหม่กว่า 7 หมื่นคน การยกระดับทักษะแรงงานที่อยู่ในตลาดแรงงานให้ได้มาตรฐานฝีมือ กว่า 19 ล้านคน และให้โอกาสกลุ่มเปราะบางทางสังคมเข้ารับการพัฒนาทักษะฝีมือ เพื่อสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพอิสระหรือการเป็นผู้ประกอบการใหม่กว่า 8 แสนคน นอกจากนี้ยังได้ร่วมบูรณาการระบบข้อมูลด้านแรงงานเพื่อรองรับการพัฒนากำลังคนในระดับชาติระหว่างภาครัฐและเอกชนมากกว่า 200 หน่วยงาน การฝึกอบรมของสถานประกอบกิจการในพื้นที่ EEC เพื่อยกระดับฝีมือแรงงานไทยให้เป็นแรงงานฝีมือชั้นสูง จำนวน 1,252 คน โดยสถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตฺโนมัติและหุ่นยนต์ (MARA) รวมถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ไทย ยกระดับฝีมือเพื่อเพิ่มทักษะกำลังแรงงานในตลาดแรงงานให้ได้มาตรฐาน สอดคล้องกับความต้องการ และเพิ่มผลิตภาพแรงงานของสถานประกอบกิจการ จำนวน 1,839 คน โดยสถาบันพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ (AHRDA)
รมช.แรงงาน กล่าวต่ออีกว่า แนวทางการจัดทำแผนพัฒนากำลังคนรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve ปี 2564-2565 ของหน่วยงานที่ภารกิจด้านการจัดการศึกษาและการฝึกอบรมของส่วนราชการจะได้ร่วมมือกับภาคเอกชน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทักษะฝีมือของแรงงานให้ทันต่อเทคโนโลยีการผลิตและบริการที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งกรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้ร่วมดำเนินการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ รวมถึงอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ เพื่อให้มีความรู้และทักษะฝีมือให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้การขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคนสามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม ในส่วนของแนวทางการพัฒนาอาชีพคนพิการ จะเป็นการให้สัมปทานจัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ จัดจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการโดยวิธีกรณีพิเศษ ฝึกงานในหลักสูตรที่เป็นการเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ หรือจัดให้มีอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวก ภาษาล่ามมือ หรือให้ความช่วยเหลืออื่นๆ แก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ เช่น การสนับสนุนด้านการเงิน วัสดุ ครุภัณฑ์ เครื่องมือ หรือทรัพย์สินอื่น รวมทั้งซื้อสินค้าจากคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการโดยตรง ให้มีอาชีพหรือการฝึกอาชีพ เพื่อเตรียมความพร้อมในการทำงานต่อไป