ชุมชนบ้านถ้ำเสือ ชุมชนเล็กๆ ที่อยู่ในอ้อมกอดภูเขาที่มีความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าและแม่น้ำเพชรบุรี จึงขอมาเยือนถิ่นถ้ำเสือกัน มาดูว่าเสือเขากินอะไรกัน โดยถึงจะเป็นชุมชนเล็กๆ แต่ก็มีต้นไม้มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ เพราะทุกคนช่วยกันอนุรักษ์จนจัดตั้งเป็นธนาคารต้นไม้ เพื่อขายคาร์บอนเครดิต ลดก๊าซเรือนกระจก เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่คอยต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มีหัวใจสีเขียว คนรักธรรมชาติ ชอบทำกิจกรรมเพื่อสังคม
มีเรื่องเล่าของบ้านถ้ำเสือ เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2487 เนื่องจากสภาพบริเวณแถวนี้เป็นป่าดงดิบที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีสัตว์นานาชนิดอาศัยอยู่ โดยเรื่องเล่ากล่าวว่า เมื่อถึงเวลา 4 โมงเย็น ผู้ที่อยู่ในป่าจะต้องรีบขึ้นไปนั่งห้างบนต้นไม้เพื่อพักและหลบจากสัตว์ป่าดุร้าย เนื่องจากพื้นที่แถบนี้จะมืดเร็วและยังมีสัตว์จำพวก ช้างป่า ม้า เสือ กระทิง อาศัยอยู่ และเนื่องจากเป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ทำให้มีกิจกรรมสัมผัสธรรมชาติมากมาย ทั้งเรียนรู้วิถีชุมชน ปั่นจักรยาน พายคายัค นั่งเรือหางยาว ท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ของชุมชน และการเดินทางสำรวจโถงถ้ำหินปูน
ที่สำคัญที่นี่...มีแหล่งท่องเที่ยวเพื่อสุภาพ “หาดโคลนร้อน” ซึ่งได้นำไปวิจัยพบว่า มีแร่ธาตุหลายตัวเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย สามารถพอกโคลนร้อนเสริมผิวสวย ซึ่งนอกจากจะได้สัมผัสความมหัศจรรย์ของธรรมชาติแล้ว การเดินนวดเท้าไปบนพื้นโคลนร้อน หรือเอาเท้าแช่ร่องน้ำร้อน หรือซุกเท้าเข้าไปในโคลนร้อน ช่วยให้ร่างกายได้ผ่อนคลายอีกด้วย เพราะเนื้อโคลนร้อนจะช่วยเปิดรูขุมขนและจะช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น ที่สำคัญสามารถช่วยบำรุงผิวพรรณให้เต่งตึงกระชับ
ต่อมาเมื่อมีชาวบ้านเริ่มเห็นว่า พื้นที่แถวนี้อุดมสมบูรณ์ และสามารถเพาะปลูกได้ ก็เริ่มถางป่าส่วนหนึ่งเพื่อใช้เป็นพื้นที่ในการเกษตรและอยู่อาศัย จากนั้นสัตว์ป่าน้อยใหญ่ก็เริ่มหลบเข้าไปอยู่ในป่าบริเวณที่ลึกขึ้น ส่วนเรื่องชื่อของบ้านถ้ำเสือนั้น เกิดจากที่ชาวบ้านไปพบเจอกับร่องรอยของเสือในถ้ำแถวนั้น จึงทำให้รู้ว่าแถวนั้นมีเสืออาศัยอยู่จนกลายมาเป็นชื่อของบ้านถ้ำเสือจนถึงปัจจุบัน โดยปัจจุบันมี 154 ครัวเรือน มีอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก
จากนั้นบ้านถ้ำเสือเลยกลายเป็นชุมชนที่อยู่คู่กับป่าและผืนน้ำเพชรบุรี ขึ้นตรงกับอำเภอแก่งกระจาน ชาวบ้านมีอาชีพหลักคือทำเกษตร ทำไร่ ทำสวน รวมถึงมีโครงการที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนคือโครงการธนาคารต้นไม้ การสนับสนุนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.)
ซึ่งเดิมศึกษาโครงการธนาคารต้นไม้ตั้งแต่ปี 2526 จากคนทำงานเมืองหลวง หันมาทำการเกษตร เพราะได้อ่านหนังสือจากคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ จึงเล็งเห็นว่าโครงการนี้จะเป็นประโยชน์ระยะยาวต่อลูกหลาน ดีกว่าการทำงานอาชีพเดิมในเมืองหลวง มีหนังสือมาจากจังหวัดให้ไปดูโครงการธนาคารต้นไม้ แล้วไปเจอทีมที่ทำงานด้านนี้อย่างจริงจัง พี่ไสว แสงสว่าง พี่พงศา ชูแน้ม ซึ่งทำงานร่วมกัน แต่ต่อมาได้แยกทำโครงการคนละโครงการจากกรมป่าไม้ และ ธ.ก.ส. กลับมาปรึกษาคนในหมู่บ้านและครอบครัว แต่หลายคนไม่เห็นด้วย จึงได้พยายามทำแบบเล็กๆ โดยหาสมาชิกได้ 70 คน ใช้ต้นไม้ที่มีอยู่แล้วที่มีมูลค่าในพื้นที่หมู่บ้าน จากพื้นที่ป่าได้ถางเอาต้นไม้ที่ไม่อยู่ในเงื่อนไขออก แล้วปลูกต้นไม้มีค่าทางเศรษฐกิจขึ้นมาแทน จนมีพื้นที่ป่าไม้มีค่าทางเศรษฐกิจมากถึง 70% หลังจากนั้นก็ได้ศึกษาอย่างจริงจัง และพบหมู่บ้านในโครงการธนาคารต้นไม้ประมาณ 5,000 ชุมชน
โดยเริ่มต้นด้วยการปลูกต้นไม้ที่อยู่ในเงื่อนไขของโครงการเพียง 9 ต้น ก็เข้าเป็นสมาชิกได้แล้ว แต่ต้องปลูกในพื้นที่ของตัวเอง บางรายปลูกต้นไม้มากถึง 1,000 ต้น มีรายได้จากการเพาะกล้าไม้จำหน่าย การขายต้นไม้ที่ปลูกในโครงการ การจำนำต้นไม้ เช่น ไม้มะฮอกกานี ไม้พะยูง ไม้สัก ราคาแตกต่างกันไป อายุที่พอจะซื้อขายได้ประมาณ 20 ปี คนปลูกอาจจะไม่ได้ใช้ แต่จะกลายเป็นมรดกถึงลูกหลาน ต้นไม้บางชนิดอย่างไม้สักเมื่อมีอายุครบจะมีราคาถึง 30,000 บาทต่อต้น ถ้าปลูก 9 ต้น ก็จะเป็นเงินเกือบ 1 แสนบาท ถือว่าเป็นการออมที่ให้ผลตอบแทนสูงมากกว่าการออมรูปแบบอื่น เพราะกล้าไม้มีราคาหลักสิบบาทเท่านั้น หลายคนที่ปลูกต้นไม้ราคาแพงพอมีคนมาซื้อก็กลับไม่ขาย เพราะรักในต้นไม้ที่ปลูกขึ้นมากับมือ ต้นไม้ในโครงการธนาคารต้นไม้รอบบริเวณบ้านถ้ำเสือจะมีพิกัด GPS สามารถดูใน Google Map ได้ทุกต้น
ถ้าใครอยากทานอาหารในถิ่นชุมชนบ้านถ้ำเสือก็มีอาหารเมนูมากมายที่ทำจากผักกูด เพราะถือเป็นผักพื้นบ้านที่หาง่ายในชุมชน เนื่องจากผักกูดจะเติบโตได้ดีและขึ้นเองตามธรรมชาติ พบได้ตามริมน้ำหรือลำธารที่เป็นแหล่งธรรมชาติบริสุทธ์ เพราะเป็นผักที่ต้องการความชื้นสูง ทำให้วัตถุดิบที่ใช้ในการประกอบอาหารของชุมชนส่วนใหญ่จะเป็นเมนูอาหารที่ทำมาจากผักกูด หน่อไม้ พืชผักต่างๆ ที่อยู่ริมแม่น้ำเพชรบุรีและในป่า เนื้อสัตว์ก็จะเป็นปลาที่ได้จากแม่น้ำเพชรบุรี ซึ่งรสชาติก็จะเป็นรสชาติแบบภาคกลาง เผ็ด เปรี้ยว เค็ม เมื่อได้รู้เรื่องราวของชุมชนกันไปบ้างแล้ว จะพาทุกคนไปบุกครัวของบ้านถ้ำเสือโฮมสเตย์ว่าจะมีเมนูอะไรบ้าง และหน้าตาน่ารับประทาน
เมนูที่น่าสนใจอย่างมาก เช่น เมนูแรก คือ ยำผักกูด หรือยำถ้ำเสือ มีส่วนประกอบหลักอย่าง ผักกูด ที่เป็นผักประจำท้องถิ่น นำมาลวกและนำไปยำกับน้ำยำที่ใช้น้ำตาลโตนดเป็นส่วนผสม สูตรเฉพาะของบ้านถ้ำเสือ มีรสชาติจัดจ้าน เปรี้ยว หวาน กลมกล่อม เสิร์ฟพร้อมเครื่องเขียง อย่างหน่อไม้ชุบแป้งทอด และไข่ต้ม ทำให้ได้สัมผัสเนื้อของอาหาร (texture) ได้หลายอย่างในจานเดียว ด้วยรสชาติที่จัดจ้าน ทำให้เป็นที่มาของชื่อ “ยำถ้ำเสือ” นอกจากนี้ “น้ำพริกกะปิกุ้งสด” เสิร์ฟพร้อมผักสดปลอดสารเคมีที่ชุมชนได้ปลูกผักเอง เป็นเมนูประจำโต๊ะอาหารที่ชุมชนนำเสนอให้นักท่องเที่ยวได้ทานกัน ด้วยรสชาติของน้ำพริกกะปิที่จัดจ้านตกแต่งด้วยเนื้อกุ้งลวกชิ้นๆ รับประทานกับข้าวสวยร้อนๆ รับรองว่าอร่อยจนแทบจะวางช้อนไม่ลงกันเลย ปลาทอดกรอบคู่กับน้ำปลาพริก ปลาสดๆ ที่ได้จากต้นแม่น้ำเพชรบุรี หรือจะเป็นเมนู ปลาทอดน้ำตก โดยการนำปลามาเฉือนเป็นเป็นชิ้น แต่ไม่ขาดออกจากกางปลา ลงไปทอดในน้ำมันที่เดือด จะทำให้ปลามีความกรอบ และราดด้วยน้ำตก ซึ่งปลาที่ทอดกรอบนี้สามารถรับประทานได้หมดทั้งตัว
สำหรับสถานท่องเที่ยวมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติมากมาย เนื่องด้วยที่ตั้งของหมู่บ้านที่อยู่ท่ามกลางภูเขา มีแม่น้ำเพชรไหลผ่านจึงมีความอุดมสมบูรณ์ เพาะปลูกพืช ผักผลไม้ได้นานาชนิด และยังเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรอินทรีย์ โครงการธนาคารต้นไม้ ฐานเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงมีโฮมสเตย์ไว้บริการนักท่องเที่ยว โดยมีกิจกรรมต่าง ๆ เช่น พายเรือยางตามลำน้ำเพชร ปลูกป่า ยิงหนังสติกพันธุ์ไม้ป่า เป็นต้น
ที่บ้านถ้ำเสือจึงเป็นสถานที่ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการมาศึกษาดูงาน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเล็ก 10 คนไปจนถึงหลัก 200 คน พื้นที่เขียวชอุ่มแห่งนี้ก็พร้อมต้อนรับแขกผู้มาเยือนจากทุกองค์กรเสมอ ชุมชนที่มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติได้เป็นอย่างดี จนสามารถเป็นชุมชนตัวอย่างในแง่ของการปลูกป่า การทำสวนไร่แบบไร้สารพิษ การใช้ชีวิตกับสายน้ำและการเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์พื้นบ้านให้สูงขึ้นได้มากกว่า 3 เท่า