ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ธรรมาภิบาล ย้อนกลับ
กระบวนการรับเรื่องของ ป.ป.ช.
01 ต.ค. 2563

เขียนให้คิด : โดย ซีศูนย์

กระบวนการรับเรื่องของ ป.ป.ช.

 

สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่เคารพ เรามาถึงกระบวนการของ ป.ป.ช.อีกรูปแบบหนึ่งครับ ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการไต่สวนของ ป.ป.ช. เขาจะให้มีการตรวจสอบก่อนว่า จะรับไปทำอะไรต่อ ซึ่งเมื่อ ป.ป.ช.รับเรื่อง หรือคณะกรรมการมีมติมอบหมายให้ตรวจสอบเรื่อง เจ้าหน้าที่ก็ต้องดูก่อนว่า เรื่องมีข้อมูลเพียงพอจะรับไว้ดำเนินการต่อ หรือเป็นเรื่องอยู่ในหน้าที่ หรือเป็นเรื่องห้ามไม่ให้รับพิจารณา

ซึ่งขั้นตอนนี้เจ้าหน้าที่ก็ต้องสรุปเรื่องราวพอชัดเจนว่า ร้องเรียนใคร ตำแหน่งอะไร พ้นไปแล้วหรือไม่ ข้อกล่าวหาและมีพฤติการณ์เป็นอย่างไร มีหลักฐานอะไรบ้าง ซึ่งเจ้าหน้าที่อาจจะขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติมจากผู้กล่าวหา บันทึกปากคำคนเกี่ยวข้อง ขอเอกสารข้อเท็จจริงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ หรือบางครั้งที่ยังไม่อาจหาหลักฐานชัดเจนและต้องเค้นเอาจากผู้ถูกกล่าวหา ก็อาจสอบผู้ถูกกล่าวหาในฐานะผู้ให้ถ้อยคำ แต่ต้องแจ้งให้เขาทราบว่า เขาถูกร้องในเรื่องนั้นด้วย หรือถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับข้อมูลที่อยู่ เจ้าหน้าที่จะทำความเห็นเสนอเลขาธิการเพื่อขอความร่วมมือจากหน่วยงานหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง หรือจากกระทรวงการต่างประเทศ หรือเอกอัครราชฑูต หรือกงสุลประเทศไทย หรือเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยให้ตรวจสอบข้อมูลแทน ซึ่งกรณีนี้ ป.ป.ช.เคยทำหลายเรื่องมาแล้ว เช่นเรื่องปาล์มน้ำมันอินโดนิเซีย

ที่สำคัญ เพื่อให้งานคดีทำได้เร็วขึ้นกว่าที่ผ่านมา ระเบียบนี้ยังกำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องตรวจสอบให้แล้วเสร็จภายใน180 วัน นับแต่วันลงทะเบียนรับเรื่อง ถ้าไม่เสร็จต้องขอขยายเวลากับผู้อำนวยการได้อีกไม่เกิน 90 วัน หากยังไม่เสร็จอีกคราวนี้ต้องขอขยายกับกรรมการ ป.ป.ช. ก็จะขยายได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 90 วัน แต่ถ้ายังไม่เสร็จอีกต้องเสนอเหตุผลความจำเป็นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อมีมติ เว้นแต่เป็นเรื่องต้องขอหลักฐานจากต่างประเทศ คณะกรรมการ ป.ป.ช.อาจให้ขยายอีกก็ได้ ส่วนที่ว่าถ้าเป็นเรื่องกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติ เจ้าหน้าที่จะพิจารณาพฤติการณ์รายละเอียดเกี่ยวกับที่มาของทรัพย์สิน สถานที่ตั้ง ชื่อที่อยู่ผู้ครอบครองหรือเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่กล่าวหาว่าเพียงพอตรวจสอบต่อไปหรือไม่ ถ้าไม่เพียงพอก็เสนอคณะกรรมการ ไม่รับ

แต่ในเรื่องนี้ถ้าผู้ถูกร้องเป็นผู้ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินก็จะต้องนำบัญชีนั้นมาประกอบการพิจารณาด้วย เพื่อที่ว่าการตรวจสอบจะรวดเร็วขึ้น และข้อมูลที่นำมาประกอบการพิจารณาสมบูรณ์เพียงพอ นอกจากนั้นแล้ว ป.ป.ช.ยังสามารถสอบเจ้าหน้าที่รัฐต่างประเทศ องค์กรระหว่างประเทศได้ด้วยนะครับ ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐต่างประเทศ เจ้าหน้าที่องค์การระหว่างประเทศ เกิดไปเรียก รับ ยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยมิชอบ เพื่อกระทำการไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ก็ดี กระทำการหรือไม่กระทำการในตำแหน่ง โดยเห็นแก่ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่ได้เรียก รับยอมจะรับก่อนได้รับตำแหน่ง

หรือจะเป็นใครก็ตามเรียกรับยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดในการที่จูงใจเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่รัฐต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศโดยทุจริตผิดกฎหมาย หรือโดยอิทธิพลของตนให้กระทำการไม่กระทำการในหน้าที่อันเป็นคุณหรือโทษบุคคลใดสำหรับตนเอง หรือให้ ขอให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดเพื่อจูงใจให้ทำหรือไม่ทำ ประวิงการกระทำโดยมิชอบด้วยหน้าที่แล้ว ก็ต้องถูกจำคุกหรือปรับด้วย

นั่นหมายถึงว่า ป.ป.ช.เขามีอำนาจสอบสวนเจ้าหน้าที่ต่างประเทศ หรือแม้จะเป็นชาวบ้านธรรมดา ถ้าทำผิดตามที่ว่า ก็สามารถดำเนินการเช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ทั่วไปได้ด้วยนะครับ ส่วนการให้ใครไปให้ปากคำ เขาจะมีหมายเรียก ซึ่งต้องมีรายละเอียดระบุไว้อย่างน้อยก็ชื่อ ที่อยู่คนที่ออกหมายเรียก สถานที่นัดหมาย เป็นต้น

ส่วนผู้ถูกร้องหรือพยานที่สมัครใจให้การ ก็ไม่จำเป็นต้องออกหมายเรียกก็ได้ แต่ใครเขาเรียกไม่ไปพบตามนัดหมายก็อาจถูกดำเนินคดีเอาได้นะครับ อีกเรื่องการสอบปากคำหลายคนอาจเข้าใจว่า ให้คนอื่นมานั่งด้วยได้ในชั้นการตรวจสอบ เขาห้ามพยานหรือผู้ถูกร้องบันทึก จะเป็นเสียงหรือภาพไม่ได้ ทั้งห้ามไม่ให้คนอื่นนั่งฟังอยู่ด้วย เว้นแต่เจ้าหน้าที่จะอนุญาตเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบเท่านั้น ส่วนกระบวนการตรวจสอบนั้น เขาให้เจ้าหน้าที่แจ้งให้พยานทราบว่า เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายอาญา ถ้าให้การเท็จเป็นผิดกฎหมายได้

เมื่อบันทึกปากคำเสร็จ จะให้พยานอ่านเอง เจ้าหน้าที่อ่านให้ฟัง แล้วให้ลงชื่อเป็นหลักฐาน ถ้าเขาไม่ยอมอ่านหรือลงชื่อ เจ้าหน้าที่จะบันทึกเหตุที่ไม่ยอมอ่านหรือลงชื่อ ในการสอบปากคำเดี๋ยวนี้ค่อนข้างทันสมัยแล้ว โดยการสอบปากคำอาจใช้วิธีประชุมทางจอภาพได้ ส่วนการนำเอกสารมาเป็นหลักฐาน ปกติจะใช้ต้นฉบับ แต่ถ้าไม่มีก็อาจใช้สำเนาได้ แต่ต้องมีผู้รับผิดชอบรับรองลงชื่อไว้ และยังมีอย่างอื่นกำหนดไว้เพื่อประโยชน์ในการรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง แม้กระทั่งให้เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดหรือภาค ตรวจสอบแทนได้ หรือหากต้องการข้อมูลธุรกรรมทางการเงิน ก็อาจเสนอความเห็นเสนอคณะกรรมการเพื่อขอข้อมูลจาก ป.ป.ง.ก็ได้ ถ้าตรวจสอบแล้วเห็นว่า เรื่องไม่อยู่ในหน้าที่อำนาจของ ป.ป.ช. หรือเป็นผู้อำนวยการสูงหรือเทียบเท่าลงมาหรือไม่ใช่ความผิดร้ายแรง ก็จะส่งให้หน่วยอื่นทำ

เอาละทีนี้ถ้าเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วก็จะเสนอกรรมการพิจารณา ถ้าข้อมูลไม่เพียงพอหรือไม่อยู่ในอำนาจหรือเป็นเรื่องห้ามรับพิจารณาก็จะสรุปเรื่องเสนอกรรมการหรือกรรมการเพื่อไม่รับพิจารณา แต่ต้องแจ้งให้ผู้กล่าวหาทราบ ถ้าไม่เห็นด้วยก็อาจมีหนังสือถึงคณะกรรมการขอให้ทบทวนคำสั่งภายใน 30 วัน นับแต่ได้รับแจ้ง ถ้ามีมูลเพียงพอก็จะเสนอคณะกรรมการไต่สวนต่อไป

ที่กล่าวมาข้างต้น งานตรวจสอบก็คล้ายงานสืบสวนของตำรวจละครับ และ ป.ป.ช.จังหวัดจะมีบทบาทค่อนข้างมาก หากงานตรวจสอบทำได้ชัดเจนสมบูรณ์ ขั้นตอนไต่สวนก็จะง่ายและรวดเร็วมากขึ้น แต่ก็ขึ้นอยู่กับเรื่องขนาดใหญ่หรือเล็กอีกที่ ส่งผลถึงการใช้เวลาไต่สวนช้าหรือเร็ว ตามเรื่องไต่สวนตอนต่อไปครับ

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...