ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เกษตรนำไทย ย้อนกลับ
มช.จับมือสภาเกษตร 15 จังหวัด พัฒนา “ข้าวสาย 3 พันธุ์ใหม่”
01 ต.ค. 2563

โดยเมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานการวิจัยทางด้านข้าวเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมและบุคลากร ระหว่าง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสภาเกษตรจังหวัด 15 จังหวัด โดยมี ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสภาเกษตรจังหวัด 15 จังหวัด ร่วมลงนาม ณ ห้องประชุมทองกวาว ชั้น 2 สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ“พัฒนาเกษตรกรรม พัฒนาเกษตรกรและบุคลากร” ในการพัฒนา “ข้าวสายพันธุ์ใหม่เพื่ออุตสาหกรรมข้าวไทย 4.0” กับสภาเกษตรกรแห่งชาติและสภาเกษตรกรจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ชาวนาผู้ปลูกข้าวใน มช.-ราชบุรี โมเดล ที่มีรายได้อย่างต่ำ 10,000 บาท/ไร่ เน้นการตลาดนำการผลิต ดูแลชาวนาสมาชิกแบบครบวงจร และควบคุมคุณภาพข้าวตลอดการผลิต ด้วยการปลูกข้าวพันธุ์ใหม่ ผลผลิตสูง คุณภาพเมล็ดดี และมีตลาดรองรับแน่นอน จำนวน 3 สายพันธุ์ ได้แก่

1.ข้าวหอมเพื่อการบริโภค (มช 10-1 หรือ FRK-1): เป็นข้าวเจ้าหอมพื้นอ่อน ไวต่อช่วงแสง มีอายุเก็บเกี่ยวประมาณ 124 วัน (โดยวิธีปักดำ) ค่อนข้างต้านทานโรคใบไหม้และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล มีคุณสมบัติเหมาะสำหรับการบริโภค มีการยอมรับของผู้บริโภคใกล้เคียงกับข้าวขาวดอกมะลิ 105 ในแง่ของสี, รสชาติ และเนื้อสัมผัส แต่จะนุ่มและคงสภาพความนุ่มนานกว่าแม้เมื่อเก็บไว้จนเย็นแล้ว และยังมีระดับสารหอม 2AP สูงถึง 6.55 ppm สูงกว่าระดับสารหอม 4.74 ppm ของข้าวขาวดอกมะลิ 105

2.ข้าวเพื่ออุตสาหกรรมแป้ง (ศฟ 10-5 หรือ MSY-4): เป็นข้าวเจ้าหอมอ่อนพื้นแข็ง ไม่ไวต่อช่วงแสง มีอายุเก็บเกี่ยวประมาณ 122 วัน ค่อนข้างต้านทานโรคใบไหม้และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล มีสารหอม 2AP ระดับ 0.79 ppm เหมาะสำหรับอุตสาหกรรมแป้งและการแปรรูปเป็นเส้นขนมจีน

3.ข้าวเพื่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์ (ศฟ 10-7 หรือ OSSY-23): เป็นข้าวเจ้าพื้นแข็ง ไม่ไวต่อช่วงแสง มีอายุเก็บเกี่ยวประมาณ 122 วัน ค่อนข้างต้านทานโรคใบไหม้และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล มีปริมาณโปรตีน 10.3% มีปริมาณไขมัน 3.6% เหมาะที่จะนำไปเป็นอาหารสัตว์ เช่นหมูและไก่ หรือทำเป็นข้าวพาร์บอยล์ (parboiled rice)

โดยข้าวทั้ง 3 สายพันธุ์นี้กำลังจะได้รับการออกหนังสือรับรองพันธุ์พืชขึ้นทะเบียน ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) พันธุ์พืช พ.ศ. 2518 จากกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยผลการดำเนินการทดสอบข้าวลำไอออน ทั้ง 3 สายพันธุ์ ในแปลงทดสอบการปรับตัวที่ จ.ราชบุรี และ จ.อุตรดิตถ์ ในปี พ.ศ.2562 และ 2563 พบว่าข้าวปรับตัวได้ดี ให้ผลผลิตสูง เป็นที่พึงพอใจของชาวนาผู้เพาะปลูก และมีคุณภาพเมล็ดดี เป็นที่พึงพอใจของผู้ประกอบการข้าวในท้องถิ่น

นอกจากนี้ เมื่อสภาเกษตรกรกรจังหวัดต่างๆ คณะทำงานด้านข้าวจังหวัดต่างๆ และตัวแทนชาวนาจังหวัดต่างๆ ได้มาศึกษาดูงาน และลักษณะต้นข้าวในแปลงทดสอบมีความพึงพอใจในข้าวลำไอออนทั้ง 3 สายพันธุ์ จึงมีความประสงค์ที่จะทำการขยายพื้นที่ปลูกไปสู่จังหวัดของตัวเอง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงได้ขยายผลสำเสร็จ มช.-ราชบุรี โมเดล สู่ 15 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี กำแพงเพชร ชัยนาท ปทุมธานี ปราจีนบุรี จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก แพร่ ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี สุโขทัย อยุธยา อ่างทอง และจังหวัดอุตรดิตถ์

สำหรับการขยายผล มช.-ราชบุรี โมเดล “ข้าวสายพันธุ์ใหม่เพื่ออุตสาหกรรมข้าวไทย 4.0” สู่ 15 จังหวัดในครั้งนี้จะเป็นการส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาเกษตรกรด้านข้าว รวมไปถึงส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพของเกษตรกร ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวลำไอออน การพัฒนาคุณภาพผลผลิตข้าวลำไอออนและการตลาดแบบครบวงจร จึงทำให้ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความสุขแก่ชาวนาไทยต่อไป

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...