กฟผ. ร่วมกับ Wallbox Chargers SL. ของประเทศสเปน บุกธุรกิจบริการชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะขนาดเล็ก โดยได้รับสิทธิ์ให้บริการดูแลและติดตั้งอุปกรณ์ภายใต้แบรนด์ Wallbox เพียงรายเดียวในประเทศไทย
ดร.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. ได้ลงนามความร่วมมือกับบริษัท Wallbox Chargers SL. ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพของประเทศสเปนที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาและผลิตอุปกรณ์ชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะแบบสองทิศทาง (Smart Bi-Directional Charger) ที่มีขนาดเล็กสำหรับติดตั้งใช้ในที่พักอาศัยแห่งแรกของโลกเมื่อวันที่ 28 กันยายน ที่ผ่านมา เพื่อร่วมกันพัฒนาธุรกิจบริการชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart EV Charger Solution) ระหว่างยานยนต์ไฟฟ้ากับระบบไฟฟ้า (Vehicle to Grid : V2G) โดยบริษัท Wallbox Chargers SL. จะให้การสนับสนุน กฟผ. พัฒนาธุรกิจบริการชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะที่เหมาะสมกับประเทศไทย ส่วน กฟผ. จะประสานศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าแห่งชาติในการปรับแก้ไขกฎระเบียบในการจ่ายไฟฟ้าจากยานยนต์ไฟฟ้ากลับสู่ระบบไฟฟ้า (Grid Code) ต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อเตรียมความพร้อมระบบไฟฟ้าไทยรองรับนวัตกรรมโรงไฟฟ้าเสมือน (Virtual Power Plant : VPP) หากอนาคตเปิดให้รับซื้อไฟฟ้าส่วนเหลือจากแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าเข้าระบบไฟฟ้า โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) เพื่อเป็นระบบสำรองไฟฟ้าช่วยเสริมความมั่นคงไฟฟ้าของประเทศ โดย กฟผ. ได้รับสิทธิ์ให้บริการดูแลและติดตั้งอุปกรณ์ รวมถึงบริการด้าน Software myWallbox ในการบริหารระบบ EV Charging Station ของผู้ประกอบการภายใต้แบรนด์ Wallbox เพียงรายเดียวในประเทศไทย
อุปกรณ์ Wallbox เป็นเทคโนโลยีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะแบบสองทิศทาง สำหรับติดตั้งบนผนังภายในที่อยู่อาศัย ถูกออกแบบให้ดูทันสมัย มีขนาดเล็กกระทัดรัด ทำให้ประหยัดพื้นที่ในการติดตั้ง น้ำหนักเบา ติดตั้งได้ง่าย และได้รับการรับรองคุณภาพตามมาตรฐานยุโรป ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษคือสามารถจ่ายไฟฟ้าจากรถยนต์ไฟฟ้าย้อนกลับเข้าสู่ระบบไฟฟ้า สามารถควบคุมปริมาณความต้องการไฟฟ้าและระบบต่างๆ เช่น ระบบกระจายพลังงาน (Power Sharing) ระหว่างเครื่องชาร์จหลายตัว เพื่อแบ่งจ่ายพลังงานให้กับรถแต่ละคันด้วยกำลังไฟฟ้าที่แตกต่างกันตามความต้องการของผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า ระบบ Automatic & Dynamic load management (Power Boost) ที่สามารถเพิ่มหรือลดกำลังไฟฟ้าในการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าให้เหมาะกับช่วงเวลาต่าง ๆ ของการใช้ไฟฟ้าในภาพรวมของผู้ประกอบการเพื่อลดโอกาสในการเกิดค่าความต้องการพลังไฟฟ้า (Demand Charge) ทำให้ค่าไฟฟ้าลดลง
ทั้งนี้ ในระยะแรก กฟผ.ได้เริ่มให้บริการ Wallbox สำหรับกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ และเตรียมพัฒนาโมเดลธุรกิจโรงแรม สถานที่ท่องเที่ยว และองค์กรต่างๆ ต่อไป