นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันคนไทยหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเลือกรับประทานอาหารมีประโยชน์ต่อร่างกาย หรือการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการออกกำลังกาย นอกจากจะทำให้ร่างกายแข็งแรงแล้ว ก็ยังจะทำให้หัวใจของเราแข็งแรงอีกด้วย เพราะการออกกำลังกาย จะช่วยให้กล้ามเนื้อหัวใจมีการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ
ของร่างกายมากขึ้น ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงที่หัวใจ ลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจชนิดต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจจากความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจตีบ ภาวะหัวใจล้มเหลว โรคความดันโลหิตสูง และยังลดความถี่ของการเจ็บหน้าอกของผู้ป่วยโรคหัวใจลงอีกด้วย
นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพหัวใจ คือออกกำลังกายให้เหมาะสมกับวัยของตนเอง โดยใช้ความแรงพอที่จะกระตุ้นการพัฒนาร่างกาย และหัวใจโดยไม่เสี่ยงอันตราย ควรทำให้เป็นกิจวัตรประจำวัน นอกจากจะมีผลดีต่อหัวใจแล้ว ยังมีประโยชน์ต่อสุภาพโดยรวมอีกด้วย การออกกำลังกายที่จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงหัวใจ คือการออกกำลังกายแบบแอโรบิก เช่น การวิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน เดิน เป็นต้น ความหนักของการออกำลังกาย คือ 55-90 % ของอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุดในแต่ละช่วงอายุ โดยเริ่มจับชีพจรปกติ แล้วบวกเพิ่ม 20-30 ครั้ง/นาที ใช้ระยะเวลาต่อเนื่อง 20-60 นาทีต่อวัน ความถี่อย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์ ถ้าออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างสม่ำเสมอ ก็จะทำให้ลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจต่างๆ ลดความอ้วน ปรับปรุงรูปร่างเพิ่มความรู้สึกของการมีสุขภาพที่ดี ช่วยให้หลับสบายขึ้น เพิ่มหรือคงระดับความแข็งแรง ทนทาน และเพิ่มระดับการใช้พลังงานของร่างกาย เพิ่มความกระฉับกระเฉงและยังเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูกอีกด้วย