ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วยนายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสุนนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) นำคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และสื่อมวลชน เข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานโรงพยาบาลกักกันแห่งรัฐทางเลือก (Alternative Hospital Quarantine) ณ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลต้นแบบที่มีกระบวนงานและระบบการบริหารจัดการที่มีคุณภาพมาตรฐานเป็นอย่างดี รองรับกลุ่มผู้ป่วยชาวไทยและชาวต่างชาติรวมผู้ติดตามที่เข้าร่วมโครงการ AHQ
โดยภายหลังการเยี่ยมชม ดร.สาธิต ให้สัมภาษณ์ว่า ด้วยการที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความมั่นคงด้านสุขภาพ (Health Security) เมื่อปี พ.ศ.2562 เป็นอันดับที่ 6 จากทั้งหมด 195 ประเทศ และเป็นอันดับ 1 ในเอเชีย ประกอบกับการมีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ เครื่องมืออุปกรณ์ที่ทันสมัย มีจำนวนสถานพยาบาลที่ได้รับการรับรองมาตรฐานในระดับสากล (JCI) มากที่สุดในอาเซียน อีกทั้งมีผลงานในการควบคุมป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ในฐานะประเทศที่ฟื้นฟูจากโควิด-19 เป็นอันดับ 1 ของโลก ทำให้ผู้มีปัญหาด้านสุขภาพที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องแสดงความประสงค์จะเข้ามารับการรักษาพยาบาลภายในประเทศไทย ซึ่งเป็นโอกาสอันดีในการฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจ ดึงรายได้เข้าสู่ประเทศ ภายหลังวิกฤติการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข โดยกรม สบส.จึงได้จัดทำโครงการโรงพยาบาลกักกันแห่งรัฐทางเลือก สร้างระบบการกักตัว ร่วมกับการรักษาพยาบาล ในสถานพยาบาล เพื่อให้ผู้ป่วยและผู้ติดตามชาวต่างชาติได้รับการดูแลรักษาอย่างเป็นระบบ และเป็นการเฝ้าระวังโรคโควิด-19 ตามหลักเกณฑ์และแนวทางการควบคุมป้องกันโรคของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยขณะนี้ มีสถานพยาบาลเอกชนเข้าร่วมโครงการโรงพยาบาลกักกันแห่งรัฐทางเลือกแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 154 แห่ง แบ่งออกเป็นสถานพยาบาลที่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน จำนวน 118 แห่ง และสถานพยาบาลที่ไม่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน จำนวน 36 แห่ง มีผู้ป่วยเข้ามารักษาตัวแล้ว 701 ราย ผู้ติดตาม 522 ราย สร้างรายได้ให้กับประเทศ จำนวน 29,900,000 บาท โดยประเทศที่เข้ามารับบริการมากที่สุด ได้แก่ กัมพูชา/จีน/เมียนมาร์/คูเวต/สหรัฐอาหรับเอมิเรตต์ ส่วนกลุ่มโรคที่เข้ามารับบริการมากที่สุด อายุรกรรม/IVF/โรคมะเร็ง/การศัลยกรรมแปลงเพศ/โรคหัวใจ และในอนาคตจะมีการเปิดสนามบินหลักและสนามบินภายในประเทศเพื่อรองรับการเดินทางของผู้ป่วยชาวต่างชาติและผู้ติดตามทางอากาศเพิ่มเติมกรณีที่จะต้องมีการ Transit ได้แก่ (1) สนามบินหลัก : ภูเก็ต/ เชียงใหม่/ สมุย/ อู่ตะเภา และ (2) ภายในประเทศ : ตราด/ แม่ฮ่องสอน/ เชียงราย/ อุบลราชธานี/ อุดรธานี/ ขอนแก่น/ กบินทร์บุรี/ พิษณุโลก/ แม่สอด/ ตาก/ ระนอง/ นครพนม/ บุรีรัมย์ และหาดใหญ่ และเปิดด่านทางบกเพิ่มเติม ได้แก่ (1) ด่านบ้านแหลม (ไพลิน/ เสียมเรียบ/ พระตะบอง) – จันทบุรี และ (2) ด่านบ้านหาดเล็ก (เกาะกง/สีหนุวิลล์) – จันทบุรี
นายแพทย์ธเรศ กล่าวต่อว่า สำหรับเกณฑ์ในการรับผู้ป่วยและผู้ติดตามชาวต่างชาติเข้ารักษาพยาบาลกับโรงพยาบาลกักกันแห่งรัฐทางเลือกนั้น ผู้ป่วยจะต้องนัดหมายกับสถานพยาบาลเอกชนที่รัฐกำหนดเป็นสถานที่กักกัน โดยสถานพยาบาลจะพิจารณาการนัดหมายจากผู้ป่วยและผู้ติดตามในกลุ่มประเทศที่ไม่มีสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 หรือรุนแรงน้อย ซึ่งผู้ป่วยและผู้ติดตามจะต้องแสดงเอกสารและหลักฐานตามที่ ศบค.กำหนด อาทิ ใบรับรองแพทย์ กรมธรรม์ที่ครอบคลุมโรคโควิด-19 ที่ ผลตรวจโรคโควิด-19 ที่ออกให้ก่อนเดินทางล่วงหน้า 72 ชั่วโมง ฯลฯ และเมื่อเดินทางเข้ามาในประเทศแล้วสถานพยาบาลจะมารับตัวผู้ป่วยและผู้ติดตามจากสนามบินหรือด่านชายแดนเพื่อไปกักกันตัว ณ สถานพยาบาลเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน ในระบบปิด พร้อมทำการตรวจคัดกรองโรคโควิดตามระยะเวลาที่กำหนด ตั้งแต่เริ่มการรักษาจนเสร็จสิ้นกระบวนการ หากสถานพยาบาลพบอาการของโรคโควิด-19 จะมีการแจ้งไปยังสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง และกรมควบคุมโรคในพื้นที่ทันที ทางหมายเลขโทรศัพท์ 0 2521 0943-5 โดยกระบวนการทั้งหมดนั้นผู้ป่วยและผู้ติดตามจะต้องชำระค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด