นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากกรณีที่มีการนำเสนอข่าวเรื่องอดีตครูผู้ช่วยโรงเรียนแห่งหนึ่งให้เด็กเล็กกินอาหารกลางวันแค่ 5 - 7 นาที ก่อนเดินเก็บถาดอาหารและเทเศษอาหารที่เหลือทิ้งโดยไม่สนใจว่าเด็กจะกินอาหารอิ่มหรือไม่นั้น โดยปกติแล้วเด็กปฐมวัยควรมีเวลาในการ กินอาหารที่เหมาะสมต่อมื้อไม่ต่ำกว่า 30 นาที เพื่อให้สามารถเคี้ยวได้ละเอียดก่อนกลืน ไม่ควรเร่งรีบ เพราะหากเคี้ยวไม่ละเอียดอาจทำให้เกิดเหตุการณ์อาหารติดหลอดลม เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ และในขณะเดียวกันเด็กที่มีเวลากินอาหารน้อยเกินไปจะเกิดการเลือกกินมากขึ้น อาจทำให้เด็กไม่กินผัก ผลไม้ ไปจนถึงดื่มนมน้อยลงด้วย ซึ่งการที่เด็ก กินอาหารน้อยกว่าความต้องการของร่างกาย สมองจะได้รับน้ำตาลกลูโคสไปเลี้ยงไม่เพียงพอ ร่างกายก็มีอาการอ่อนเพลีย หงุดหงิด อารมณ์เสีย ไม่มีสมาธิในการเรียน อาจถึงขั้นหน้ามืดเป็นลมได้
“ทั้งนี้ ในแต่ละมื้ออาหารเด็กควรกินให้ครบ 5 หมู่ และหลากหลาย เป็นเมนูอาหารที่เหมาะสม ทำได้ง่าย ถูกหลักโภชนาการ อาทิ 1) เมนูข้าวสวย ต้มเลือดหมู ใส่หมูสับ ตับหมู ใบตำลึง และส้ม ล้วนอุดมด้วยธาตุเหล็กจากเลือดและตับหมู ช่วยป้องกันโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก เมื่อกินคู่กับผลไม้สดที่มีวิตามินซีจะช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็กได้ดียิ่งขึ้น 2) เมนูข้าวไรซ์เบอรี่ ตับไก่ผัดหน่อไม้ฝรั่ง มะละกอสุก คือมีโฟเลทสูง ช่วยป้องกันภาวะโลหิตจาง ที่อาจเป็นอุปสรรคของการเจริญเติบโตและการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย และ 3) เมนูแซนวิชโฮลวีท อกไก่ ไข่ดาว สลัดผัก กล้วย เป็นเมนูทำง่ายและสะดวกในการกินระหว่างเดินทาง อุดมด้วยวิตามินบี หากเด็กปฐมวัยได้รับอาหารกลุ่มนี้อย่างเพียงพอและกินอาหารครบ 5 หมู่ จะส่งผลให้ร่างกายเจริญเติบโตดีควบคู่กับการส่งเสริมให้เด็กเคลื่อนไหวร่างกาย กระโดดโลดเต้น เน้นเล่นสนุกจนรู้สึกเหนื่อยหรือหอบอย่างน้อย 60 นาทีทุกวัน ฝึกความแข็งแรงและความยืดหยุ่นกล้ามเนื้อเอ็นและข้อต่อ นอกจากนี้เด็กปฐมวัยควรนอนหลับให้สนิท 9 - 11 ชั่วโมงต่อวัน จะส่งผลให้สมองปลอดโปร่ง เกิดประสิทธิภาพการเรียนรู้ที่ดีควบคู่กับการมีสุขภาพที่แข็งแรงตามมาด้วย” นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าว