นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ย้ำ แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) 4 กลุ่ม ที่เคยมีใบอนุญาตทำงาน แต่การอนุญาตสิ้นสุด และยังอยู่ในราชอาณาจักร ให้สามารถอยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นการชั่วคราว และให้ทำงานได้เป็นการเฉพาะ เพื่อติดต่อขอรับใบอนุญาตทำงาน ตามมติครม. 4 สิงหาคม 2563 ให้นายจ้าง/สถานประกอบการ ต้องรีบดำเนินการยื่นขอรับใบอนุญาตทำงานกับกรมการจัดหางานให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2563 เพื่อไปดำเนินการขั้นตอนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป หากพ้นกำหนด พบจ้างคนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน มีโทษปรับสูงสุด 100,000 บาท
นายสุชาติ กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ในประเทศไทยคลี่คลายลง และเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานของนายจ้าง/สถานประกอบการ ที่มีความจำเป็นต้องใช้แรงงานต่างด้าวในการดำเนินกิจการ คณะรัฐมนตรีจึงได้เห็นชอบมาตรการผ่อนปรนตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563 เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านกำลังแรงงานในการฟื้นฟูประเทศ และเป็นการลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ที่มาจากคนต่างด้าวรายใหม่ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ใกล้จะสิ้นสุดระยะเวลาการยื่นขอรับใบอนุญาตทำงานแล้ว
“ กระทรวงแรงงาน ขอย้ำ เตือนให้ นายจ้าง/สถานประกอบการ ที่มีแรงงานต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563 ได้แก่ กลุ่มที่ 1) แรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่เข้ามาทำงานตามข้อตกลง MoU ซึ่งครบวาระการจ้างงาน 4 ปี กลุ่มที่ 2) แรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ ถือเอกสารประจำตัวได้แก่ หนังสือเดินทาง (Passport : PP) เอกสารเดินทาง (TD) เอกสารรับรองบุคคล (CI) ที่ใบอนุญาตทำงานและการได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุดในช่วงตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2562 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 แต่ไม่ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 กลุ่มที่ 3) แรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่เข้ามาทำงานตามข้อตกลง MoU ที่การอนุญาตทำงานสิ้นสุดลงโดยผลของกฎหมายตามมาตรา 50 มาตรา 53 หรือมาตรา 55 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เช่น ออกจากนายจ้างรายเดิม แต่หานายจ้างรายใหม่ไม่ได้ภายใน 30 วัน เป็นต้น กลุ่มที่ 4) แรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชาและเมียนมา ที่เข้ามาทำงานในลักษณะไป - กลับ หรือตามฤดูกาล โดยใช้บัตรผ่านแดน (Border Pass) ตามความตกลงว่าด้วยการข้ามแดน ตามมาตรา 64 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวฯ ซึ่งครบวาระการจ้างงาน และการอนุญาตให้พำนักในเขตพื้นที่ชายแดนที่ได้รับอนุญาตสิ้นสุด รีบมาดำเนินการขอใบอนุญาตทำงานกับกรมการจัดหางาน ภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2563 และไปดำเนินการขั้นตอนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อให้สามารถอยู่และทำงานในประเทศไทยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว
ด้านนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินการว่า แรงงานต่างด้าวกลุ่มที่ 1 – 3 ต้องยื่นขอรับใบอนุญาตทำงานที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 ตามที่ตั้งของสถานประกอบการ ภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2563 ซึ่งใบอนุญาตทำงานจะสามารถใช้ได้ตั้งแต่ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 – 31 มีนาคม 2565 หลังจากนั้นคนต่างด้าวต้องตรวจสุขภาพ /ประกันสุขภาพกับโรงพยาบาลของรัฐที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด (กรณีไม่มีประกันสังคม) และยื่นขอรับการตรวจอนุญาตอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป (Visa) กับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ภายในวันที่ 31 มกราคม 2564 และขั้นตอนสุดท้ายคือ การจัดทำ/ปรับปรุงทะเบียนประวัติ ออกบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ที่มีใบอนุญาตทำงานด้านหลังบัตร กับกรมการปกครอง ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 - 31 มีนาคม 2564
ส่วน คนต่างด้าวซึ่งเข้ามาทำงานในลักษณะไป-กลับ หรือตามฤดูกาลบริเวณชายแดน ที่ถือบัตรบัตรผ่านแดน (Border Pass) ต้องยื่นขอรับใบอนุญาตทำงานที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด ภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2563 และคนต่างด้าวต้องตรวจสุขภาพ /ประกันสุขภาพ (กรณีไม่มีประกันสังคม) ภายในวันที่ 31 มกราคม 2564 โดยใบอนุญาตทำงานมีอายุครั้งละ 3 เดือน แต่สามารถขอต่อเนื่องได้ไม่เกินวันที่ 31 มีนาคม 2565
ซึ่งข้อมูล ณ เดือนกันยายน 2563 พบว่า แรงงานต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ได้ขอรับใบอนุญาตทำงานไปแล้วทั้งสิ้น 61,193 คน โดยแยกเป็นสัญชาติ กัมพูชา 17,463 คน ลาว 3,517 คน และเมียนมา 40,213 คน
“ หากพ้นกำหนดระยะเวลาการดำเนินการดังกล่าวแล้ว เจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบ แรงงานต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ จะมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท และถูกผลักดันกลับประเทศ ส่วนนายจ้างที่จ้างคนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ จะมีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน และถ้ายังพบกระทำผิดซ้ำจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี “ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว
ทั้งนี้ หากต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่ไลน์ @Service_Workpermitหรือ สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน