กฟผ.ผนึกกำลังภาคีเครือข่ายผู้ผลิตไฟฟ้าขับเคลื่อนมาตรการ การลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามเป้าหมาย ผ่านมาตราการการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคผลิตไฟฟ้าและการส่งเสริมการซื้อขายเครดิตพลังงานหมุนเวียน
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาวน์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ประเทศไทยมีเป้าหมายท้าทายยิ่งขึ้นสำหรับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะในปีนี้ที่เข้าสู่ข้อเสนอการมีส่วนร่วมของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจกและการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Nationally Determined Contribution : NDC) จึงถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง ที่ กฟผ. ได้พัฒนากลไกใบรับรองเครดิตการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate) หรือ REC ขึ้นมา โดยกลไกดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนา การผลิตและการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในประเทศมากยิ่งขึ้น ช่วยกระตุ้นให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจก และยังเป็นอีกกลไกที่จะนำประเทศไทยไปสู่การบรรลุเป้าหมายระดับชาติ เพื่อให้คนไทยได้ใช้พลังงานสะอาดและยั่งยืน
ด้านนายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ. ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายผู้ผลิตไฟฟ้าดำเนินมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคผลิตไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี2562 ที่ผ่านมา ได้นำผลการลดก๊าซเรือนกระจกทั้งของ กฟผ. และผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน (IPP) มารวมกันซึ่งสามารถลดก๊าซเรือนกระจกลงได้ถึง 10.03 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งผลจากความร่วมมือนี้ กฟผ. อยู่ระหว่างการนำส่งให้กระทรวงพลังงานเพื่อรวมเป็นส่วนหนึ่งของการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน เพื่อช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกตามแผนการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ หรือ NAMA ทั้งนี้การผนึกกำลังเป็นเครือข่าย Thailand Clean Energy Network จะส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศ อันจะนำไปสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำต่อไป
ภายในงาน กฟผ. ยังได้เปิดตัวธุรกิจซื้อขายใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน (REC) รวมทั้งการให้บริการรับรอง REC ที่ กฟผ. ได้รับสิทธ์จาก The International REC Standard (I-REC) ให้เป็นผู้รับรอง REC แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย โดยคาดว่าธุรกิจ REC จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนภายในประเทศ เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนของสหประชาชาติอย่างเป็นรูปธรรม