กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยสำนักอุทยานแห่งชาติ จัดประชุมการนำเสนออุทยานแห่งชาติเขาสก จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน มีนายสุทธิพงษ์ คล้ายอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายดำรัส โพธิ์ประสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ นายบรรณรักษ์ เสริมทอง ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 4 (สุราษฎร์ธานี) นายวิโรจน์ โรจนจินดา หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาสก ตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ประชาชน คณะผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ผู้ประกอบการท่องเที่ยว สื่อมวลชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ เข้าร่วมประชุม ระหว่างวันที่12 - 14 ตุลาคม 2563 ณ อุทยานแห่งชาติแห่งชาติ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
นายดำรัส โพธิ์ประสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 เห็นชอบการนำเสนอพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสก จังหวัดสุราษฎร์ธานี และพื้นที่อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง – ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย ให้เป็นพื้นที่อุทยานมรดกแห่งอาเซียน โดยจะต้องรับการประเมินจากคณะผู้เชี่ยวชาญของศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (ASEAN Centre for Biodiversity : ABC) อุทยานมรดกแห่งอาเซียน เป็นโปรแกรมนำร่องของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ในการจัดการพื้นที่คุ้มครองของประเทศและของเครือข่าย เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์พื้นที่คุ้มครองของประเทศและของเครือข่าย ร่วมกันสงวนและรักษาให้สมบูรณ์เพื่อเป็นตัวแทนของระบบนิเวศของภูมิอากาศอาเซียน
ดังนั้น จึงจัดประชุมครั้งนี้ขึ้นเพื่อให้เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ โดยสำนักอุทยานแห่งชาติ ได้ทำความเข้าใจและรับฟังความคิดเห็นกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ในกรณีข้อดีของการที่อุทยานแห่งชาติเขาสกเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการนำเสนอเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน ทั้งนี้ อุทยานแห่งชาติเขาสก เป็นหนึ่งในอุทยานที่มีความสวยงามโดดเด่น เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เดินทางมาท่องเที่ยวเป็นจำนวนกว่าสามแสนคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี อีกทั้งสภาพป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีแหล่งท่องเที่ยวที่มีความสวยงาม โดยเฉพาะเขื่อนรัชชประภา จนได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 8 อุทยานแห่งชาติที่สวยที่สุดในโลก จากโว๊ค (Vogue) นิตยสารชื่อดังระดับโลก ซึ่งการนำเสนออุทยาแห่งชาติเขาสกให้เป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน จึงเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทยและอาเซียน เนื่องจากจะมีพื้นที่กว่า 738.74 ตารางกิโลเมตร ที่จะได้รับการปกป้องดูแลรักษาให้คงความเป็นธรรมชาติที่สมบูรณ์ เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ประชากรของประเทศไทย ภูมิภาคอาเซียนและของโลก
ส่วนเกณฑ์การพิจารณาเพื่อนำเสนอพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสกเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน ประกอบด้วย 10 เกณฑ์ ดังนี้ 1.ความสมบูรณ์ทางระบบนิเวศ 2.ความเป็นตัวแทนของภูมิภาค 3.ความเป็นธรรมชาติ 4.มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์อย่างสูง 5.พื้นที่ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย 6.แผนการบริหาร
จัดการที่ได้รับการเห็นชอบ 7.ลักษณะการเชื่อมต่อข้ามพรมแดน 8.ความเป็นเอกลักษณ์ 9.ความเชื่อมโยงที่สำคัญระหว่างชนชั้นเมืองและระบบนิเวศ 10.ความสำคัญด้านความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตที่มีค่า หายาก และใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งปัจจุบันในภูมิภาคอาเซียน มีอุทยานมรดกแห่งอาเซียน จำนวน 49 แห่ง เป็นของประเทศไทย 6 แห่ง ประกอบด้วย 1.อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ 2.อุทยานแห่งชาติตะรุเตา 3.กลุ่มอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ – หมู่เกาะสิมิลัน – อ่าวพังงา 4.กลุ่มป่าแก่งกระจาน 5. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง 6.อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม-เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง
ทั้งนี้ อุทยานแห่งชาติเขาสก ได้ดำเนินการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติใน 4 ด้าน คือ 1.ด้านการป้องกันและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ 2.ด้านการท่องเที่ยวและนันทนาการ 3.ด้านการศึกษาวิจัย 4.ด้านการ บูรณาการการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ซึ่งจากการดำเนินการพัฒนาในทุกๆด้าน ทำให้ปัจจุบันพบว่าสถิติคดีการทำลายทรัพยากรธรรมชาติลดลงจากการลาดตระเวนอย่างเข้มข้น สถิติเงินรายได้และนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นทุกปี ผลงานการศึกษาวิจัยต่างๆ ที่ได้ร่วมกับสถานศึกษา การจัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติ และอาสาสมัครพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการท่องเที่ยว เข้ามามีบทบาทในการจัดการอุทยานแห่งชาติเขาสกมากขึ้น ล้วนเป็นปัจจัยบวกที่ทางอุทยานแห่งชาติเขาสกได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง