ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คุณภาพชีวิต ย้อนกลับ
WHO ชูไทย6จุดเด่น แก้โควิด-19ได้ยอดเยี่ยม
14 ต.ค. 2563

นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายพลพีร์ สุวรรณฉวี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (ฝ่ายการเมือง) นายแพทย์แดเนียล เคอร์เทสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย นายแพทย์ริชาร์ด บราวน์ ผู้จัดการโครงการด้านภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉินและการดื้อยาต้านจุลชีพ องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค และนายแพทย์พงศธร พอกเพิ่มดี ที่ปรึกษาระดับกระทรวง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิด้านสาธารณสุข ร่วมแถลงข่าวการถอดบทเรียนร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและองค์การอนามัยโลก ในการปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์โรคโควิด 19 ในประเทศไทย (Ministry of Public Health and WHO Joint Intra-Action Review of Public Health Response to COVID-19 in Thailand)

         นายอนุทินกล่าวว่า ไทยถือเป็นประเทศแรกๆของโลกที่เข้าร่วมการถอดบทเรียนนี้ ซึ่งได้รับคำชื่นชมจากคณะประเมินว่าสามารถดำเนินการป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 ได้เป็นอย่างดี โดยปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จ ได้แก่ ภาวะผู้นำที่เข้มแข็งซึ่งมีการตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูลและหลักฐานทางวิชาการที่ดีที่สุด, ระบบสาธารณสุขที่แข็งแกร่งของประเทศ มีทรัพยากรพร้อมและทุกคนเข้าถึงได้ รวมถึงการบริหารจัดการผู้ป่วยในโรงพยาบาลอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ตลอดจนศักยภาพของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และทีมสอบสวนโรคของทุกพื้นที่มีความพร้อมในการสอบสวนโรคจำนวนกว่า 1,000 ทีม ทำให้การติดตามกักตัวผู้สัมผัสมีความเข้มแข็ง, ประสบการณ์ที่ผ่านมากับการรับมือกับโรคระบาดในอดีต อาทิ โรคซาร์ส ไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่ 2009, วัฒนธรรมการทักทายแบบไม่สัมผัสกันและสวมหน้ากากเป็นประจำ การสื่อสารสม่ำเสมอ โปร่งใส นำไปสู่ความร่วมมือของภาคประชาชน, การดำเนินงานแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานหลายภาคส่วนระหว่างภาครัฐ เอกชน และองค์กรต่างๆ

     นายอนุทินกล่าวต่อว่า การสรุปบทเรียนการปฏิบัติการควบคุมโควิด 19 ครั้งนี้ ทีมถอดบทเรียนได้เสนอให้กระทรวงสาธารณสุขปรับปรุงระบบการจัดเก็บและบูรณาการฐานข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับโควิด 19 การขยายศักยภาพของระบบเฝ้าระวังเพื่อการค้นหาผู้ป่วยให้ได้อย่างรวดเร็ว การจัดตั้งหน่วยงานระดับประเทศที่มีอำนาจในการกักกันโรค เพื่ออำนวยการ ประสานงานระหว่างภาคส่วนต่างๆ ให้เป็นไปได้สะดวกขึ้น การป้องกันบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย การเสริมกำลังคน และการเพิ่มประสิทธิภาพของศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน โดยกระทรวงสาธารณสุขมุ่งมั่นพัฒนาการรับมือกับสถานการณ์โควิด 19 ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อนำข้อเสนอแนะต่างๆ ไปปฏิบัติจริงได้อย่างรวดเร็ว มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นกับประเทศไทยได้ทุกรูปแบบอย่างมีประสิทธิภาพ

       “ขอความร่วมมือให้ประชาชนทุกคนระมัดระวังและปฏิบัติตามมาตรการพื้นฐานต่างๆ ที่ทางกระทรวงสาธารณสุขแนะนำเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ไม่ว่าจะเป็นการสวมหน้ากากในสถานที่สาธารณะ การรักษาระยะห่าง การหลีกเลี่ยงสถานที่แออัด หรือสถานที่ปิดหากเป็นไปได้ การล้างมืออย่างสม่ำเสมอ และลงทะเบียนในแอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” ทุกครั้งที่เข้าใช้บริการในสถานที่ต่าง ๆ” นายอนุทินกล่าว

       นายแพทย์แดเนียล เคอร์เทสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า ข้อเสนอแนะจาก และการเสริมสร้างและปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ การนำข้อเสนอแนะเหล่านี้ไปปรับใช้อย่างรวดเร็วจะช่วยให้การรับมือกับสถานการณ์การระบาดในระลอกต่อไปมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอีก ขณะที่เจตจำนงของการถอดบทเรียนครั้งนี้ ดำเนินการเพื่อพัฒนาการรับมือของประเทศไทย ประเทศอื่นๆ อาจพบว่ามีข้อค้นพบที่เป็นประโยชน์ในการสนับสนุนความพยายามในการควบคุมการระบาดของแต่ละประเทศได้

      ดร.พูนาม เคตราปาล ซิงห์ ผู้อำนวยการสำนักงานองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียใต้ – เอเชียตะวันออก กล่าวว่า  การถอดบทเรียนไม่เพียงแต่สำคัญสำหรับประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อภูมิภาคเอเชียใต้-เอเชียตะวันออกขององค์การอนามัยโลกอีกด้วย เพราะขณะนี้ทั่วโลกต่างกำลังเรียนรู้ไปพร้อมกันในเรื่องของการรับมือกับโรคระบาด 

     ทั้งนี้ การถอดบทเรียนครั้งนี้ เป็นการศึกษาทบทวนการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 ของประเทศไทยในช่วง 6 เดือนแรกตามคู่มือขององค์การอนามัยโลก ระหว่างวันที่ 20-24 กรกฎาคม 2563 โดยทีมผู้ประเมินที่มีความเชี่ยวชาญในหลายสาขา จากองค์การอนามัยโลก องค์การสหประชาชาติ ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา ฯลฯ ใช้วิธีการสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูล ทั้งผู้กำหนดนโยบาย ผู้เชี่ยวชาญทางวิชาการ และบุคลากรทางการแพทย์ จากภาครัฐเเละเอกชน จำนวน 96 คน และจัดทำเป็นรายงานข้อเสนอแนะในการพัฒนาการตอบสนองต่อสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด 19 ของประเทศไทยในอนาคต โดยสามารถดาวน์โหลดรายงานภาษาไทยได้ที่ https://www.who.int/docs/default-source/searo/thailand/iar-covid19-th.pdf และภาษาอังกฤษที่ https://www.who.int/docs/default-source/searo/thailand/iar-covid19-en.pdf

     สำหรับการประเมินแบ่งเป็น 9 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1.การประสานงานการวางแผน การติดตามเเละประเมินผลในระดับประเทศ 2.การสื่อสารความเสี่ยงและการมีส่วนร่วมของชุมชน 3.การเฝ้าระวัง การสอบสวนโรค และการติดตามผู้สัมผัส 4.ช่องทางเข้าออกประเทศ สุขภาพแรงงานต่างด้าว  5.ระบบห้องปฏิบัติการแห่งชาติ 6.การป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ 7.การจัดการผู้ป่วย และการแบ่งปันความรู้ นวัตกรรมและการวิจัย 8.การสนับสนุนการ ปฏิบัติงานและการขนส่งในห่วงโซ่อุปทาน และการจัดการกำลังคน และ9.การบำรุงรักษาด้านบริการ สุขภาพที่จำเป็นต่างๆ (ที่ไม่เกี่ยวข้องกับโควิด 19 โดยตรง) ระหว่างการระบาดของโรคโควิด 19

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...