ที่ศูนย์ประชุมวายุภักดิ์ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดการประชุมชี้แจงหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2564 เพื่อสื่อสารทิศทางและนโยบาย รวมถึงหลักเกณฑ์ แนวทางการดำเนินงานและบริหารจัดการงบประมาณของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รายการบริการต่างๆ ร่วมกับหน่วยบริการมากกว่า 1,500 คน ทั่วประเทศ ผ่าน Facebook live และ Meeting Zoom เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย Social Distancing โดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงาน และปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า”
จากนั้นได้มีเวทีชี้แจง 2 หัวข้อใหญ่ คือ “แนวทางการยกระดับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” โดย นายแพทย์เกียรติภูมิ วงขจรจิตร ปลัดกระทรวงสาธารณสุข, นายแพทย์ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. และ แพทย์หญิงป่านฤดี มโนมัยพิบูลย ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. และชี้แจงประเด็น “เปลี่ยนแปลงแนวทางการจ่ายเงินกองทุนบัตรทอง ปี 2564” โดย นายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการ สปสช.
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง หรือ 30 บาทรักษาทุกโรคมากว่า 18 ปี ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการ ลดความยากจน เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ โดยขับเคลื่อนอยู่บนหลัก 3 เรื่อง คือ ความเท่าเทียม มีประสิทธิภาพ และการมีส่วนร่วม โดยหลักความเท่าเทียม คือ การที่คนไทยเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ ทั่วถึง และไม่เลือกปฏิบัติ พร้อมกับเสนอนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ สำหรับปัญหาแพทย์ขาดแคลน ได้มอบนโยบายให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ศึกษาการจ้างแพทย์เกษียณอายุราชการมาให้บริการประชาชนที่ รพ.สต.หรือโรงพยาบาลชุมชน สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนวางใจมารับบริการ เนื่องจากเป็นแพทย์ที่มีทักษะและประสบการณ์ นอกจากจะช่วยลดปัญหาขาดแคลนแล้วยังช่วยให้ความรู้ประสบการณ์แก่แพทย์รุ่นใหม่ๆ ที่ผลิตออกมาอีกด้วย
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุถึงมาตรการยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพว่า ผลักดัน 30 บาท รักษาทุกที่โดยเน้นการรับบริการปฐมภูมิเป็นลำดับแรก และเพิ่มการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ ที่เน้นเขตบริการสุขภาพเป็นศูนย์กลาง ยกระดับระบบการเงินการคลังหน่วยบริการ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน ปรับปรุงชุดสิทธิประโยชน์ร่วมทุกกองทุน และ พัฒนาระบบข้อมูล โดยการบูรณาการข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
สำหรับแนวทางการยกระดับหลักประกันสุขภาพ ในปีงบประมาณ 2564 จะน้นการมีส่วนร่วมรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน กระจายงบประมาณที่เป็นธรรม ใช้ข้อมูลทันสมัย และ เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการทางการเงิน กระจายอำนาจให้เขตสุขภาพ ให้เขตสามารถบริหารจัดการภายใต้บริบท ปัญหาเฉพาะเขต มีการการตรวจเยี่ยมพื้นที่เพื่อติดตาม สนับสนุนการดำเนินงาน และการตรวจราชการ เพื่อประเมินและให้ความช่วยเหลือ
ขณะที่เลขาธิการ สปสช. ระบุถึงการบริการภายใต้นโยบาย “ยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ซึ่งจะดำเนินการตามเป้าหมายดังนี้
เริ่ม 1 พฤศจิกายน 2563
- ประชาชนที่เจ็บป่วยไปรับบริการกับหมอประจําครอบครัวในหน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ (เริ่ม กทม.และปริมณฑล)
- ผู้ป่วยในไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัว (เริ่ม เขต 9 กทม.)
เริ่ม 1 มกราคม 2564
-ผู้ป่วยในไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัว (เริ่ม เขต 9 กทม.และปริมณฑล)
-โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม (ทั่วประเทศ)
-ย้ายหน่วยบริการ ได้สิทธิทันที ภายใน 24 ชม. ไม่ต้องรอ 15 วัน (ทั่วประเทศ)
ด้านรองเลขาธิการ สปสช. กล่าวถึงแนวทางการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่เปลี่ยนแปลงในปี 2564 โดยให้รายการบริการส่วนใหญ่คงการบริหารเหมือนปี 2563 ยกเว้นรายการเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ใหม่ หรือปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้น สนับสนุนการจัดบริการให้สอดคล้องกับนโยบายการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social distancing) และลดความแออัดในหน่วยบริการ และการปรับปรุงจะเน้นเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพต่างๆ
นอกจากนี้ ยังมีการแลกเปลี่ยนความเห็น พร้อมให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม เพื่อนำไปปรับปรุงแนวทางการบริหารกองทุนให้มีการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการด้วยความมั่นใจ ผู้ให้บริการมีความสุข