น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์มีแผนส่งเสริมและผลักดันให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่อินทรีย์ เพื่อป้อนความต้องการของตลาดที่มีเพิ่มมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ โดยตั้งเป้าภายใน 3 ปี จะมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 2 หมื่นไร่ จากปัจจุบันมีประมาณ 5 พันไร่ มีผลผลิตเพียง 1.5 พันตัน ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการ
ทั้งนี้ จะร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จัดทำโซนนิ่งการเพาะปลูก โดยพื้นที่ที่เหมาะสมเบื้องต้น เช่น ลำปาง อุตรดิตถ์ ตาก พิษณุโลก กำแพงเพชร นครราชสีมา บึงกาฬ มหาสารคาม ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด เพชรบูรณ์ พิจิตร เป็นต้น โดยจะคัดเลือกเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจัดอบรมให้ความรู้ในการเพาะปลูก การควบคุมคุณภาพ เพื่อให้มีการเพาะปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่อินทรีย์จริงๆ
ขณะเดียวกัน จะเชิญสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (IFOAM) ซึ่งเป็นหน่วยงานสากลที่ให้การรับรองสินค้าเกษตรอินทรีย์ มาตรวจและให้การรับรองข้าวไรซ์เบอร์รี่ของไทย ซึ่งจะทำให้ข้าวไรซ์เบอร์รี่เป็นที่ยอมรับ และสามารถส่งออกไปขายยังตลาดต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น
“ผลผลิตข้าวไรซ์เบอรี่แท้ ๆ มีน้อย แต่ความต้องการมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดผู้ที่รักสุขภาพ ล่าสุดมีผู้ซื้อต่างประเทศติดต่อผ่านมูลนิธิเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก เข้ามาถึง 5,000 ตัน แต่ไม่มีสินค้าส่งให้ และในอนาคตหากไทยได้รับการรับรองจากสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติจะยิ่งทำให้ประเทศที่สนใจสินค้าอินทรีย์มีการสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้ผลักดันการเพาะปลูกข้าวไรซ์เบอรี่มาอย่างต่อเนื่องโดยเน้นข้าวไรซ์เบอร์รี่ที่เป็นอินทรีย์"
ปัจจุบันข้าวไรซ์เบอร์รี่ของไทยมีตลาดภายในประเทศรองรับ และเป็นที่สนใจในตลาดต่างประเทศ อาทิ จีน เยอรมนี อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ และสหรัฐ โดยราคาจำหน่ายสูงกว่าข้าวหอมมะลิ หรือมีราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 50 บาท แต่หากส่งออกไปขายยังต่างประเทศจะขายได้ถึง กก.ละ 200 บาท