นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ประสานสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐถึงแนวทางการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ ทั้งจากมาตรการผ่อนผันให้ลูกหนี้เอสเอ็มอีที่ได้รับการพักหนี้ตาม พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ได้ครบกำหนด 6 เดือนในวันที่ 22 ต.ค. 2563 หรือการช่วยเหลือของสถาบันการเงินแต่ละแห่ง ซึ่งขณะนี้ยืนยันว่า ทุกสถาบันการเงินจะเข้าไปดูแลอย่างต่อเนื่อง ส่วนจะขยายเวลาออกไปเท่าไรนั้นแต่ละสถาบันการเงินจะไปดูความเหมาะสมอีกครั้งภายในสัปดาห์นี้ หรือต้นสัปดาห์หน้า
ส่วนมาตรการผ่อนผันให้ลูกหนี้เอสเอ็มอีที่ได้รับการพักหนี้ตามพ.ร.ก.ฯ ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะไม่ขยายมาตรการออกไปอีก แต่ก็ประสานธนาคารพาณิชย์เพื่อออกมาตรการต่อเนื่องมาช่วยเหลือ โดยจัดกลุ่มลูกค้าที่เดือดร้อนเป็นกลุ่มๆ ซึ่งกลุ่มที่มีปัญหาคือ กลุ่มลูกหนี้ที่ไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ และกลุ่มลูกหนี้ที่ขาดการติดต่อกับสถาบันการเงิน คิดเป็นสัดส่วน 10% ที่ยังเดือดร้อน โดยมีวงเงินหนี้ประมาณ 1 แสนล้านบาท ล่าสุด ธปท.ได้หารือกับธนาคารพาณิชย์ไปเร่งช่วยเหลือแล้ว
ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่าในปัจจุบันมีลูกหนี้กลุ่มเอสเอ็มอีทั้งระบบอยู่ที่ 12 ล้านราย วงเงินรวม 5.5 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 4 ล้านราย วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท
ขณะเดียวกันยังได้รายงานให้ที่ประชุม ครม.รับทราบประมาณการเศรษฐกิจของประเทศ ล่าสุด ข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ได้มีการปรับตัวเลขประมาณการตัวเลขของประเทศไทย จากเดิมที่คาดว่าในปี 2563 จะติดลบอยู่ที่ 7.7% ก็ปรับให้ดีขึ้นเป็นติดลบ 7.1% แสดงให้เห็นว่า แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงหลังสถานการณ์โควิด-19 นั้นมีการปรับตัวที่ดีขึ้น เนื่องจากมาตรการของรัฐบาลที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และค่อยๆ ผ่อนคลายในเรื่องของมาตรการรวมทั้งในเรื่องของการเข้าไปช่วยเหลือสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจของผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และเอสเอ็มอี
แนวโน้มของการปรับตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจนั้นไม่ว่าจะเป็นของทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือธนาคารโลกนั้น ก็ปรับตัวเลขให้กับทางเอเชียให้มีการฟื้นตัวที่เร็วกว่าในภูมิภาคอื่นของโลก ถือเป็นแนวโน้มที่ดีประกอบกับแนวโน้มภายในประเทศนั้นดัชนีความเชื่อมั่นหลายตัวก็มีแนวโน้มในช่วงของการปรับตัวที่ดีขึ้นในช่วงของไตรมาสที่ 3 และคาดว่าจะต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาสที่ 4 ด้วย