ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ลงนามความร่วมมือกับ นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.)เพื่อผลักดันกระแสการท่องเที่ยวเรียนรู้ค้นหาให้เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยมี ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นสักขีพยานในพิธีลงนาม ณ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)โดย เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ทางกระทรวง อว. มีนโยบายในการพัฒนาประเทศให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยส่งเสริมผ่านแหล่งท่องเที่ยวเชิงวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นอีก 1 ทางเลือกที่น่าสนใจ เนื่องจากสามารถเข้าถึงประชาชนได้ทุกกลุ่มเป้าหมาย และง่ายต่อการเข้าใจ โดยการลงนามความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงานในครั้งนี้ จึงถือเป็นพลังสำคัญที่จะช่วยผลักดันแหล่งท่องเที่ยวด้านวิทยาศาสตร์ให้เป็นที่รู้จัก และเป็นที่สนใจกับนักท่องเที่ยวในวงกว้างขึ้น โดยเฉพาะในส่วนพิพิธภัณฑ์วิยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ และพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า ขององค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) จ.ปทุมธานี ซึ่งเปรียบเสมือนสมิธโซเนียนของเอเชีย รวมทั้ง จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ที่จะเกิดขึ้นต่อไป
ด้าน ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า อพวช. มีภารกิจในการส่งเสริมสังคมไทยให้สนใจ และเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์ที่มีต่อการพัฒนาประเทศ และปลูกฝังให้เยาวชนมีทัศนคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้ง เป็นสถานที่ให้ความรู้ และความเพลิดเพลินแก่ครอบครัวผ่านการจัดแสดงนิทรรศการ และกิจกรรมเสริมศึกษา ซึ่งเน้นการมีส่วนร่วมของผู้เข้าชม โดยเน้นชิ้นงานแบบ Hands-on เพื่อเป็นการสร้างประสบการณ์ด้านวิทยาศาสตร์ผ่านการลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ซึ่ง อพวช. มีแหล่งเรียนรู้ที่มีความหลากหลายให้บริการในพื้นที่เดียว ได้แก่ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นของตัวอาคารรูปทรงลูกบาศก์ขนาดใหญ่ 3 ลูกวางพิงกันอย่างสมดุล ใช้มุมแหลมของแต่ละลูกบาศก์รับน้ำหนัก แสดงให้เห็นถึงสถาปัตยกรรมอันล้ำยุค ภายในแบ่งเป็น 6 ชั้น จัดแสดงนิทรรศการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพื้นฐาน ง่ายต่อความเข้าใจ ส่วนพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา เป็นสถานที่จัดแสดง และแหล่งอ้างอิงข้อมูลวัสดุตัวอย่างทางด้านธรรมชาติวิทยาของประเทศไทย และเป็นแหล่งสตัฟฟ์สัตว์สมัยใหม่ หรือ Taxidermy ที่มีความพร้อม และสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ตลอดจนจัดแสดงนิทรรศการประวัติศาสตร์ทางธรรมชาติวิทยาที่น่าสนใจอีกด้วย
นอกจากนี้ ในส่วนของพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ของการสื่อสารตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และโลกอนาคต โดยนำเสนอเนื้อหาสาระในรูปแบบที่สนุกสนานผ่านสื่อหลากหลายรูปแบบ และในส่วนของพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า แหล่งเรียนรู้ด้านนิเวศวิทยา และสิ่งแวดล้อมแห่งใหม่ของอาเซียน ที่ช่วยสร้างความตระหนักให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล และยั่งยืน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร แต่อุปสรรคที่ อพวช. เผชิญตลอดมาคือ ความเข้าใจในเรื่องสถานที่ ซึ่งมองว่าเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเด็กเท่านั้น