นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ตามที่ได้มีการขับเคลื่อนนโยบายเกษตร 4.0 ภายใต้การนำของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและ เพื่อให้ปรากฎผลเป็นรูปธรรมสู่ยุคดิจิทัลทรานสฟอร์มเมชั่น (Digital Transformation) และได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 4 คณะ ได้แก่ 1. อนุกรรมการขับเคลื่อน Big Data และ Gov Tech ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 3. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อน E-Commerce ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ 4. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนธุรกิจเกษตร (Agribusiness) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตลอดจนศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center : AIC) ซึ่งที่ประชุมได้มีการรายงานผลการดำเนินงานทั้ง 4 คณะ ดังนี้
1. อนุกรรมการขับเคลื่อน Big Data และ Gov Tech มีการขยายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางวิชาการ แลกเปลี่ยนข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร รวมทั้งร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะได้ข้อมูลสำหรับการดำเนินนโยบายสนับสนุนหรือแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว โดย ธปท. จะสามารถใช้ข้อมูลเพื่อติดตามภาวะเศรษฐกิจการเกษตร อันนำไปสู่มาตรการทางด้านการเงินที่มีประสิทธิภาพ ในส่วนของการดำเนินงานแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางสำหรับประชาชน (Citizen Service Platform) มีแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางสำหรับประชาชน รวมทั้งสิ้น 175 บริการ ซึ่งเป็นดิจิทัล 90 บริการ
2. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะ มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติ “การจัดทำแผนปฏิบัติการเกษตรอัจฉริยะ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ฉบับสมบูรณ์)” เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2563 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ของแผนปฏิบัติการเกษตรอัจฉริยะ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคเกษตรกร ร่วมประชุม ให้ข้อคิดเห็น และจัดทำข้อเสนอโครงการ ประกอบด้วย หน่วยงานหลัก 4 ด้าน คือ ด้านการวิจัย ด้านการส่งเสริมพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี ด้านงบประมาณ และด้านการพัฒนาเกษตรกร เป็นการวางรากฐานการเกษตรอัจฉริยะของประเทศอย่างเป็นระบบ โดยมีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการความร่วมมือในการขับเคลื่อนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะของประเทศไทยต่อไป
3. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อน E-Commerce เตรียมจัดทำแผนการพัฒนาตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์อย่างยั่งยืน จัดทำโครงการ The Local Hero เพื่อสร้างกลุ่มเกษตรชุมชนให้สามารถจำหน่ายสินค้าของตนเองได้ โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้ทุกอำเภอมีทีมขายสินค้าจากการขายออฟไลน์สู่ออนไลน์ พร้อมผลักดันศูนย์ AIC ทั้ง 77 แห่ง เป็นแกนในการรวบรวมข้อมูลสินค้าเกษตร ข้อมูลผู้ซื้อ ข้อมูลผู้ขาย รวมถึงเพิ่มความรู้ให้พี่น้องเกษตรกร ปูทางสู่การทำ super App เป้าหมาย ตลาดทำผลิต
4. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนธุรกิจเกษตร (Agribusiness) ได้ทำความร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพื่อเชื่อมโยงงานเข้าด้วยกัน จัดทำหลักสูตรต่าง ๆ เพื่อใช้ในการฝึกอบรม โดยให้ความสำคัญกับเกษตรกรที่ประสบปัญหาหนี้สินจำนวนมาก เกษตรกรที่เป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กที่ยังขาดองค์ความรู้การเงิน และทางคณะอนุกรรมการฯ จะนำทีมธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นกลุ่มที่ดูแลภาระหนี้ครัวเรือนมาทำงานร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่ม young smart farmer หรือกลุ่ม AIC เป็นกลุ่มที่มีองค์ความรู้การประกอบธุรกิจ หรือเป็นกลุ่ม SMEs กลุ่มเหล่านี้จะเป็นการช่วยเหลือองค์ความรู้ด้านการระดมทุน การวางแผนธุรกิจ หรือการจดทะเบียนบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทางศูนย์ AIC จะประสานกับคณะอนุกรรมการ เพื่อเชื่อมโยงกับทีมตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการอบรม กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่ม High end ที่สามารถมีธุรกิจขนาดใหญ่ จะเป็นเรื่ององค์ความรู้ด้านตลาดหลักทรัพย์
สำหรับความก้าวหน้าของศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center : AIC) ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานคัดเลือกศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะด้าน (Center of Excellence) ไปเมื่อไม่นานมานี้ โดยมีนายยุคล ลิ้มแหลมทอง เป็นประธาน มีหน้าที่พิจารณากำหนดสาขาของศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะด้านและคัดเลือกสถาบันการศึกษาที่ควรเป็นศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะด้าน ซึ่งได้มีการประชุมไปเมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2563 มีศูนย์ความเป็นเลิศ จำนวน 35 สาขา 130 แห่ง อาทิ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ประมงทะเล เกลือทะเล เป็นต้น โดยแบ่งประเภทศูนย์ความเป็นเลิศ AIC เป็น 1. แบบครบวงจร และ 2. ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับการดําเนินงานของ AIC ได้ที่ AIC https://aic.moac.go.th/