“ไอเอ็มดี” เผยขีดแข่งขันด้านดิจิทัลไทยเพิ่มขึ้นหนึ่งอันดับ รั้งอันดับที่ 39 จากปี 62 อยู่ในอันดับที่ 40 ด้วยสองเหตุผลหลัก "ปัจจัยด้านเทคโนโลยี" และ “ปัจจัยด้านความพร้อมรองรับอนาคต”ได้คะแนนดี ขณะที่ ต้องเร่งยกระดับองค์ทักษะดิจิทัลเพิ่ม ชี้ยังเป็นจุดด้อยสำคัญของไทย ด้าน “พุทธิพงษ์” เร่งเดินหน้าพัฒนาดิจิทัลทุกด้านให้ก้าวทันระดับโลก
โดยเมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันการจัดการนานาชาติ (International Institute for Management Development: IMD) ประกาศผลการจัดอันดับความสามารถการแข่งขันด้านดิจิทัลของเขตเศรษฐกิจทั่วโลก (IMD World Digital Competitiveness Ranking) ประจำปี 2563 ประเทศไทยถูกจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลอยู่ในอันดับที่ 39 จาก 63 ประเทศ ดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา 1 อันดับ
ขณะที่ อันดับ 1 ของโลกยังเป็นประเทศสหรัฐอเมริกา รองลงมาคือ สิงคโปร์ เดนมาร์ก สวีเดน ฮ่องกง สวิสเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ เกาหลีใต้ นอร์เวย์ และฟินแลนด์ ตามลำดับ ตามรายงานของไอเอ็มดี ระบุว่า ปี 2563 เป็นปีที่ท้าทายสำหรับโลก ทุกชีวิต ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ขณะที่เทคโนโลยีถูกหลวมรวมเข้าด้วยกัน เพื่อแก้ไขวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคในมิติที่แตกต่างกัน ตั้งแต่การสื่อสารไปจนถึงการตรวจสอบ การประเมิน และหวังว่าในอนาคตอันใกล้ โลกจะพบวิธีการรักษาโรคนี้
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ทุกประเทศจะสามารถรักษาอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ เนื่องจากการที่ประเทศต่างๆ จะรักษาอันดับความสามารถการแข่งขันให้คงที่ หรือถูกจัดอันดับให้ดีขึ้นเพียง 1 อันดับ เป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะนั่นหมายถึงการที่ประเทศนั้นต้องเร่งพัฒนาประเทศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลทุกด้านให้ก้าวหน้าเท่าทันกับประเทศอื่น ซึ่งล้วนยกให้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นแกนหลักสำคัญ (Backbone) ในการขับเคลื่อนประเทศ
ทั้งนี้ การจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลนั้น ไอเอ็มดี ประเมินจากปัจจัยหลัก 3 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านองค์ความรู้ (Knowledge) 2. ด้านเทคโนโลยี (Technology) และ 3. ด้านความพร้อมรองรับอนาคต (Future readiness)
ปัจจัยหลักที่ดีขึ้นและช่วยยกอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ได้แก่ ปัจจัยด้านเทคโนโลยี และปัจจัยด้านความพร้อมรองรับอนาคต โดยปี 2563 ดีขึ้นจากปีที่ 2562 อย่างก้าวกระโดดถึง 5 อันดับ ทั้ง 2 ปัจจัย โดยอยู่ในอันดับที่ 22 และอันดับที่ 45 ตามลำดับ สะท้อนความสำเร็จในการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย
ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมผ่านกองทุนดีอี การผลักดันเมืองอัจฉริยะ (Smart City) การส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5จี และโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล การเตรียมความพร้อม Disruptive Technology ให้กับภาคส่วนต่างๆ ของประเทศไทย รวมถึงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC) เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐสู่การที่ทุกภาคส่วนสามารถนำข้อมูลภาครัฐไปใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต และการผลักดันนโยบายและแผนด้านดิจิทัลในประเด็นต่างๆ
"สำหรับปัจจัยหลักด้านองค์ความรู้ ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 43 ซึ่งเป็นอันดับเดิมของปีที่ผ่านมา แต่ไม่ได้หมายความว่า ประเทศไทยไม่ได้พัฒนาด้านองค์ความรู้ แต่หมายถึง เราพัฒนา แต่เป็นแรงขับเคลื่อนที่คงตัว ดังนั้น จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ชี้เป้าให้ประเทศไทยจะได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาปัจจัยดังกล่าวให้มากยิ่งขึ้น" นายพุทธิพงษ์ กล่าว