นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีการนำสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมาใช้อย่างแพร่หลาย ทำให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่า ในช่วงเวลา พ.ศ. 2550–2556 ในแต่ละปีมีรายงานผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากที่สุดจากภาคกลาง ร้อยละ 31–36 รองลงมา คือ ภาคเหนือ ร้อยละ 27–31 ในขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ18–20 และภาคใต้ ร้อยละ 18–19 ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม รองลงมาคืออาชีพรับจ้าง กลุ่มอายุที่ป่วยมากที่สุดคือกลุ่มอายุ 45–54 ปี รองลงมาคือกลุ่มอายุ 55–64 ปี และกลุ่ม 35–44 ปี โดยพบผู้ป่วยเพศชายมากกว่าเพศหญิง
นายแพทย์วชิระ เปิดเผยว่า สารเคมีกำจัดศัตรูพืชปัจจุบันแบ่งเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่
1) กลุ่มออร์กาโนคลอรีน (Organochlorine insecticides) เป็นสารที่สลายตัวยาก ทำให้เกิดการตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมเป็นเวลานาน เช่น Endosulfan, Aldrin, DDT, Methoxychor ส่งผลให้เกิดพิษเฉียบพลัน มีผลต่อระบบประสาทพิษเรื้อรัง หากใช้ในปริมาณมากเป็นระยะเวลานาน อาจมีผลต่อการทำงานของตับและทำให้เกิดโรคมะเร็ง หรือโลหิตจางได้
2) กลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตและคาร์บาเมต (Organophosphate and Carbamate insecticides) สลายตัวได้ค่อนข้างเร็ว จึงไม่ตกค้างในสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดการกระตุ้นปลายประสาทอย่างรุนแรงและเสียชีวิตได้ง่าย อาการอื่นที่พบ คือ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน น้ำตาไหล เหงื่อออก ม่านตาหด กลั้นอุจจาระ ปัสสาวะไม่ได้ การเกร็งของหลอดลม
3) กลุ่มไพรีทรอยด์ส (Synthetic Pyrethriods) เป็นสารสังเคราะห์เลียนแบบจากธรรมชาติ การใช้อย่างเจือจางทำให้ไม่มีฤทธิ์สะสมในร่างกาย จึงเกิดพิษต่อคนและสัตว์น้อยมาก
4) สารกำจัดศัตรูพืชประเภทวัชพืช (Herbicides) สารกลุ่มนี้ดูดซึมทางผิวหนังได้ดี โดยเฉพาะถ้ามีบาดแผล มักมีผลต่อตับ ปอด อาจมีเลือดออกในทางเดินอาหาร
5) สารกำจัดหนูและสัตว์กัดแทะ (Rodenticides) ส่วนใหญ่เป็นสารกลุ่มที่มีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น Wafarin หยุดยั้งการสร้างวิตามิน เค ทำให้เลือดออกตามผิวหนัง และส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เม็ดเลือดขาวต่ำ ลมพิษ และ 6) สารกำจัดเชื้อรา (Fungicides) ซึ่งมีใช้กันอยู่มากมาย บางชนิดมีพิษน้อย บางชนิดมีพิษมาก
"สำหรับประชาชนที่จำเป็นต้องใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ควรป้องกันอันตรายจากสารเคมี ดังนี้ 1) อ่านฉลากที่ติดมากับภาชนะบรรจุให้เข้าใจเกี่ยวกับวิธีใช้ การป้องกันอันตรายและวิธีแก้พิษ 2) ผสมสารเคมีกำจัดศัตรูพืชให้ถูกต้องตามอัตราส่วนที่ระบุในฉลากและเตรียมน้ำสะอาดไว้เพียงพอสำหรับการชำระล้างในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น สารเคมีกระเด็นเข้าตา หรือหกเปรอะเปื้อนร่างกาย 3) ขณะผสมสารเคมี ไม่ควรใช้มือเปล่ากวน ควรใช้ไม้หรือวัสดุอื่นแทนและสวมถุงมือทุกครั้งในขณะตวงหรือรินสาร 4) สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทุกชนิด ควรบรรจุในภาชนะที่บรรจุมาแต่เดิม ถ้าจะถ่ายใส่ภาชนะใหม่ ต้องติดป้ายบอกชัดเจนว่าเป็นสารเคมีอะไร ป้องกันการหยิบผิด และต้องแน่ใจว่าปิดฝาสนิทไม่มีการรั่วซึมออกนอกภาชนะ 5) สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ผสมให้พอดี ใช้ให้หมดในครั้งเดียว หากใช้ไม่หมด ควรจัดเก็บให้มิดชิดห่างไกลจากเด็ก สัตว์เลี้ยง และไม่ปนเปื้อนแหล่งน้ำหรืออาหาร 6) ตรวจเช็คอุปกรณ์การฉีดพ่นให้อยู่ในสภาพดี ไม่ชำรุดก่อนจะนำไปใช้ ห้ามใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่มีการรั่วซึมของสารทำการฉีดพ่น ในกรณีที่หัวฉีดเกิดการอุดตัน ห้ามใช้ปากเป่าหัวฉีดพ่นนั้น แต่ให้ถอดหัวฉีดออกมาทำความสะอาดโดยใช้การแช่ในน้ำ หรือใช้ไม้เขี่ยแล้วล้างน้ำ 7) สวมเสื้อผ้ามิดชิด เช่น กางเกงขายาว เสื้อแขนยาว สวมอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล เช่น หน้ากากที่มีไส้กรองอากาศ ถุงมือ หมวกกระบังครอบหน้า หรือแว่นตา 8) ห้ามกินอาหาร น้ำ หรือสูบบุหรี่ในขณะทำการผสมสารเคมี 9) ในกรณีที่เกษตรกรมีการสัมผัสสารเคมีทางผิวหนัง ให้ทำการชำระล้างด้วยน้ำสะอาดนาน ๆ อย่างน้อย 15 นาที รีบอาบน้ำฟอกสบู่เปลี่ยนเสื้อผ้าสะอาด และ 10) ไม่ควรฉีดพ่นในขณะที่ลมแรง หรือฝนตก และควรยืนอยู่เหนือลมเสมอ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด