นายอธิคม เติบศิริ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เปิดเผยมาตรการด้านความปลอดภัยของระบบท่อส่งก๊าซฯ ภายหลังเหตุการณ์เกิดเหตุก๊าซธรรมชาติรั่วและเกิดเพลิงไหม้ อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ โดยยืนยันว่า ปตท. ปฏิบัติตามมาตรฐานสากล (ASME B31.8) ในการบริหารจัดการท่อส่งก๊าซฯ อย่างเคร่งครัดตลอดมา ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ ก่อสร้าง การบริหารจัดการการขนส่งและการบำรุงรักษาระบบท่อส่งก๊าซฯ เพื่อประสิทธิภาพในการส่งก๊าซฯ และความปลอดภัยสูงสุดเป็นสำคัญ
ปตท. มีการควบคุมและตรวจสอบการส่งก๊าซฯ ผ่านระบบควบคุมอัตโนมัติ (Supervisory Control and Data Acquistion System) หรือระบบ SCADA ที่ศูนย์ปฏิบัติการชลบุรี ซึ่งสามารถควบคุมและติดตามข้อมูลการส่งก๊าซฯ ได้แบบ Real Time ตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้สามารถทราบความผิดปกติของการส่งก๊าซฯ ได้ทันที รวมทั้งยังมีสถานีควบคุมก๊าซฯ (Block Valve Station) ทำหน้าที่ตรวจสอบความดัน อุณหภูมิ และปริมาณการไหลของก๊าซฯ ตลอดแนวท่อ ซึ่งในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ผิดปกติ พนักงานควบคุมการส่งก๊าซฯ จะสามารถสั่งการปิดวาล์วเพื่อตัดแยกระบบ ณ จุดเกิดเหตุ ผ่านระบบ SCADA ได้โดยตรง
ทั้งนี้ ปตท. มีการกำหนดมาตรฐานการตรวจสอบ บำรุงรักษา และเฝ้าระวังแนวท่อส่งก๊าซฯ ที่เข้มข้นอย่างสม่ำเสมอ ดังนี้
· การตระเวนตรวจสอบแนวท่อทั้งโดยรถยนต์และพนักงานของ ปตท. (Pipeline Patrolling) เป็นประจำทุกสัปดาห์
· การตรวจสอบแหล่งจ่ายกระแสไฟฟ้าและตรวจสอบจุดเชื่อมต่อทางไฟฟ้ากับโครงสร้างข้างเคียง เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพในการตัดแยกกระแสไฟฟ้าของระบบปกป้องท่อส่งก๊าซฯ จากความผุกร่อนภายนอก (Cathodic Protection: CP) เป็นประจำทุกเดือน
· การตรวจสอบการตัดแยกทางไฟฟ้าที่ใช้กับระบบการปกป้องท่อจากความผุกร่อนภายนอก เป็นประจำทุกปี
· การตรวจหาความผิดปกติของวัสดุเคลือบท่อ ด้วยวิธี DCVG (Direct Current Voltage Gradient) และตรวจสอบความสมบูรณ์ของระบบในการปกป้องท่อส่งก๊าซฯ จากการผุกร่อนภายนอก (CP) ด้วยวิธี CIPS (Close Interval Potential Survey) เป็นประจำทุก 5 ปี
· การตรวจสอบโดยกระสวยอัจฉริยะ หรือ Intelligent Pipeline Inspection Gauge (ILI PIG) ซึ่งเป็นการส่ง ILI PIG เข้าไปในท่อในขณะที่มีการส่งก๊าซฯ เพื่อเก็บข้อมูลสภาพท่อ แล้วนำมาวิเคราะห์สภาพความสมบูรณ์ของท่อ เป็นประจำทุก 5 ปี
อนึ่ง วิธีการตรวจสภาพด้วย ILI PIG เป็นวิธีตามมาตรฐานสากลที่ยอมรับทั่วโลก โดย ปตท. มีการนำ ILI PIG มาใช้ทั้งชนิด MFL Pig หรือ Magnetic Flux Leakage เพื่อใช้สำหรับตรวจสอบหาปริมาณเนื้อโลหะที่หายไป หรือก็คือการตรวจสอบความผุกร่อนทั้งภายในและภายนอกของระบบท่อ และชนิด Geometry PIG หรือ Caliper Pig เพื่อใช้สำหรับตรวจสอบการเปลี่ยนรูปของท่อส่งก๊าซ เช่น ความไม่กลมท่อ รอยบุบ รอยย่นของระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ
ทั้งนี้ หากพบความผิดปกติจากผลการตรวจสอบด้วย ILI PIG เกิดขึ้น ปตท. จะเข้าดำเนินการซ่อมแซมปรับปรุงท่อส่งก๊าซฯ ดังกล่าวตามมาตรฐาน ASME 31.8 โดยทันที เพื่อให้มั่นใจว่าระบบขนส่งก๊าซฯ ของ ปตท. มีความมั่นคงและปลอดภัยมากที่สุด
นายอธิคม กล่าวเพิ่มเติมว่าในช่วงสถานการณ์ปัจจุบันนี้ ปตท. มีการยกระดับการตรวจสอบและเฝ้าระวังให้สูงขึ้นกว่ามาตรฐาน โดยเพิ่มความถี่ในการลาดตระเวนตรวจสอบแนวท่อส่งก๊าซฯ เป็น 2 เท่า ในทุกพื้นที่ที่มีแนวท่อส่งก๊าซฯ พาดผ่านอีกด้วย สำหรับการตรวจสอบหาสาเหตุ ปตท. เร่งดำเนินการโดยเร็วที่สุดตามขั้นตอน โดยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งขณะนี้ได้มีการส่งชิ้นส่วนท่อส่งก๊าซฯ และตัวอย่างดินในบริเวณจุดเกิดเหตุให้ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) เพื่อวิเคราะห์ความเสียหาย และเมื่อได้รับผลการวิเคราะห์จาก MTEC จักส่งต่อให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินความเสียหาย (Loss Adjuster) วิเคราะห์สาเหตุต่อไป