บี.กริม เพาเวอร์ เผยทิศทางการบริหารงานในครึ่งปีหลังปี 2559ปลื้มผลการดำเนินงานครึ่งปีแรกโต 150% หากเทียบกับปีที่ผ่านมา มั่นใจศักยภาพความพร้อมเทคโนโลยี บุคลากรของบริษัทฯ สามารถรองรับการเติบโตของความต้องการใช้ไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร คาดรายได้ครึ่งปีหลังเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้
นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีข้างหน้า บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าสานต่อการพัฒนา โรงไฟฟ้าตามที่วางไว้ โดยปัจจุบันบริษัทฯ มีโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 5 โครงการด้วยกัน แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าบ่อวิน ซึ่งคาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในช่วงปลายปี 2559 โรงไฟฟ้า ABPR3,ABPR4,ABPR5 คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2561 และโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ ที่ประเทศลาวอีก 1 โครงการ คือ โรงไฟฟ้าเซน้ำน้อย-เซกระตำ ซึ่งคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2560 หากการก่อสร้างแล้วเสร็จตามที่วางแผนไว้ บริษัทฯ จะมีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 1,626 เมกะวัตต์ ในปี 2559 และ 1,646 เมกะวัตต์ ในปี 2560 และ 2,060 เมกะวัตต์ ในปี 2561
โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนรวมใน 5 โครงการนี้ประมาณ 25,000 ล้านบาท โดยเงินทุนส่วนใหญ่มาจากเงินกู้ธนาคารในรูปแบบของเงินกู้โครงการ (Project Finance) ซึ่งบริษัทฯ ได้ลงนามในสัญญาเงินกู้กับธนาคารที่เกี่ยวข้องแล้วทุกโครงการ
นอกจากนี้ คาดว่าภาพรวมของรายได้และกำไรจากการดำเนินงานครึ่งปีหลัง ปี 2559จะเป็นไปตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ หากไม่มีปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้มากระทบ ทั้งนี้จากการประเมินความต้องการใช้ไฟฟ้าของนิคมอุตสาหกรรมยังคงมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแม้จะลดลงจากช่วงครึ่งปีแรกของปี 2559 เล็กน้อยอันเป็นผลมาจากภาพรวมของภาวะเศรษฐกิจโลก การดำเนินงานของโรงไฟฟ้าอมตะบี.กริม เพาเวอร์ 4 และ 5 ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม (Co-Generation) และเป็นโรงไฟฟ้าใหม่ของบริษัทฯ ที่มีมูลค่าการลงทุนถึง 11,000 ล้านบาท นับเป็นโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับบริษัทฯ ในการรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนครเป็นอย่างดี โดยกลุ่มลูกค้าหลักของโรงไฟฟ้าอมตะบี.กริม เพาเวอร์ 4 และ 5 คือ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์
สำหรับทิศทางการลงทุนในอีก 5 ปีข้างหน้าจะสานต่อพัฒนาโรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศ โดยมีโครงการที่กำลังพัฒนาต่อเนื่องอีกหลายโครงการ อัตราการเติบโต 46.5% จากปัจจุบัน และกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 2,383 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่มีอยู่ 1,626 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 59,000ล้านบาท โดยจะให้ความสำคัญกับการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน และการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น