นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะนายกสภาสถาบันพระบรมราชชนก เป็นประธานการประชุมสภาสถาบันพระบรมราชชนก ครั้งที่ 7/2563 ให้สัมภาษณ์ว่า ประเทศไทยได้กำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุสมบูรณ์แบบ (Completed Aged Society) มีความต้องการบริการด้านสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น และนโยบายในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ ประชาชนได้รับการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ใกล้บ้าน สอดคล้องกับการสำรวจของคณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สถาบันพระบรมราชชนก ที่พบว่าบุคลากรและหน่วยงานด้านสุขภาพ ต้องการศึกษาพัฒนาความรู้ด้านการพยาบาลขั้นสูง ในการดูแลผู้สูงอายุและส่งเสริมสุขภาพเชิงรุกในชุมชน ดังนั้นที่ประชุมสภาสถาบันพระบรมราชชนกมีมติเห็นชอบให้เปิดหลักสูตรพยาบาลศาสตร์มหาบัณฑิต 2 หลักสูตรแรก คือด้านการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ และหลักสูตรเวชปฏิบัติชุมชน เพื่อดูแลครอบคลุมทุกระยะของการเจ็บป่วย รองรับความต้องการบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขของสังคมปัจจุบันและอนาคต รวมถึงเป็นการตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ 20 ปีของกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องการเพิ่มศักยภาพและพัฒนาระบบบริการสุขภาพชุมชน ป้องกันการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง โรคระบาด และภาวะฉุกเฉินในทุกช่วงอายุ ซึ่งต้องอาศัยความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ของทีมบุคลาการทางการแพทย์ และพยาบาลวิชาชีพ
นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าวต่อว่า สถาบันพระบรมราชชนก ได้เปิดหลักสูตรระดับปริญญาโทหลักสูตรแรก คือสาธารณสุขศาสตรมหาบัณทิตที่วิทยาลัยสาธารณสุขสิรินทร จังหวัดขอนแก่น จะเปิดภาคการศึกษาในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2563 และที่ประชุมสภาวิชาการ ครั้งที่ 9/2563 เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563 ได้เห็นชอบให้เปิดหลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต 2 สาขา โดยสาขาวิชาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุจะเปิดสอน ณ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพ, วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พุทธชินราช จ.พิษณุโลก และวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สงขลา เริ่มในปีการศึกษา 2564 ส่วนสาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน เปิดสอน ณ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ขอนแก่น เปิดหลักสูตรในปีการศึกษา 2564 และวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพ เปิดหลักสูตรในปีการศึกษา 2565 ซึ่งผู้เรียนสามารถนำความรู้ที่ได้จากการศึกษามาต่อยอด เพิ่มโอกาสในอาชีพด้านการพยาบาลขั้นสูง ทั้งในภาครัฐ เอกชน เช่น เป็นอาจารย์พยาบาล ผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย ผู้ประกอบการด้านสุขภาพหรือประกอบอาชีพอิสระ