กรมชลประทาน ระดมเครื่องจักร เครื่องมือ เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ประสบอุทกภัยให้เร็วขึ้น ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ พร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ ช่วยระบายน้ำ หวังลดผลกระทบต่อชุมชน พร้อมเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แสดงความห่วงใยผ่าน ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการมอบนโยบายให้กรมชลประทานเตรียมการรับมือช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจาก "โมลาเบ" ทันที หลังเกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี นครราชสีมา ปราจีนบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี และสุราษฎร์ธานี กรมชลประทานได้ระดมเครื่องผลักดันน้ำ เครื่องจักร เครื่องมือต่าง ๆ เข้าไปช่วยเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่โดยเร็ว เพื่อลดผลกระทบของประชาชน
ที่จังหวัดอุบลราชธานี มีน้ำท่วมขังในเขตเทศบาลเมืองอุบลราชธานี 2 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช 1 (ชุมชนวังแดง) และชุมชนบูรพา 2 แนวโน้มทรง โครงการชลประทานอุบลราชธานี ได้นำกระสอบทราย 500 ใบ วางเป็นแนวกั้นน้ำ และติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 4 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง บริเวณโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช 1 (ชุมชนวังแดง) หากระดับน้ำในแม่น้ำมูลลดต่ำลง จะเร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่ต่อไป พร้อมกันนี้ยังได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำบริเวณสะพานพิบูลมังสาหาร 50 เครื่อง เร่งระบายน้ำในแม่น้ำมูลลงสู่แม่น้ำโขงโดยเร็ว
ส่วนที่จังหวัดนครราชสีมา ปริมาณน้ำที่ล้นทางระบายน้ำล้น (Spillway) อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง ลงสู่พื้นที่ตอนล่าง มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอปักธงชัย อำเภอวังน้ำเขียว อำเภอโชคชัย และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งยังคงมีน้ำล้นตลิ่งอยู่ประมาณ 0.90 เมตร แนวโน้มลดลง สำนักงานชลประทานที่ 8 และสำนักเครื่องกล ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำจำนวน 44 เครื่อง และติดตั้งเครื่องสูบน้ำในพื้นที่ 1 เครื่อง พร้อมรถแบคโฮอีก 4 คัน เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ นอกจากนี้ น้ำที่ไหลลงสู่ลำน้ำต่าง ๆ ยังส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำเขตอำเภอเมือง อำเภอสูงเนิน และอำเภอพิมาย สำนักงานชลประทานที่ 8 นำรถแบคโฮ 5 คัน ขุดลอกคลองสายใหญ่ฝั่งขวา-ปตร.โพธิ์เตี้ย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ลงสู่ลำน้ำบริบูรณ์ และติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ ที่ ปตร.ข่อยงาม และ ปตร.จอหอ รวม 9 เครื่อง และติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำอีก 6 ตัว เร่งระบายน้ำที่ท้ายเขื่อนพิมาย พร้อมทั้งกำจัดวัชพืช สิ่งกีดขวางทางน้ำในลำน้ำมูลและลำจักราช
สำหรับที่จังหวัดสุพรรณบุรี มีน้ำท่วมขัง 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอสามชุก อำเภอสองพี่น้อง อำเภอบางปลาม้า และ อำเภออู่ทอง โครงการชลประทานจังหวัดสุพรรณบุรี ได้เร่งระบายน้ำบริเวณ ปตร.ริมแม่น้ำท่าจีน ระบายน้ำจากคลองระบาย 5 ขวา สามชุก1 ลงคลองระบายใหญ่สามชุก 1 และเร่งระบายน้ำในคลองระบาย 4 ซ้ายสุพรรณ 2 เพื่อรองรับน้ำที่สูบออก พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำ เร่งระบายน้ำที่ท่วมขังออกจากพื้นที่ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง
ที่จังหวัดนครปฐม มีน้ำท่วมขังในพื้นที่การเกษตรลุ่มต่ำ ส่งผลกระทบ 1 อำเภอ 2 ตำบล ได้แก่ อำเภอกำแพงแสน บริเวณ ต.ทุ่งบัว และต.รางพิกุล พื้นที่จำนวน 450 ไร่ สำนักงานชลประทานที่ 13 ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 7 เครื่อง แบ่งเป็นในพื้นที่ ต.ทุ่งบัว 4 เครื่อง และ ต.รางพิกุล 3 เครื่อง นอกจากนี้ ยังมีน้ำท่วมขังพื้นที่นาข้าว 2 อำเภอ 5 ตำบล ได้แก่ อ.กำแพงแสน บริเวณ ต.กระตีบ ต.สระพัฒนา ทุงบัว และต.สามง่าม อ.บางเลน บริเวณ ต.หินมูล และ ต.บางไทรป่า มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 6,450 ไร่ ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 9 เครื่อง แบ่งเป็น อ.กำแพงแสน 6 เครื่อง อ.บางเลน 2 เครื่อง และ อ.ดอนตูมอีก 1 เครื่อง เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่แล้ว
ทั้งนี้ หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม คาดว่าสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ต่าง ๆ จะคลี่คลาย และเข้าสู่ภาวะปกติในเร็ววันนี้ ซึ่งกรมชลประทาน ยังคงเดินหน้าช่วยเหลือเร่งระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ หากประชาชนหรือหน่วยงานใดต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดตามได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ชลประทานบริการประชาชน ได้ตลอดเวลา