นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) เปิดเผยว่า หลังจากได้พูดคุยกับนายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงช่วงที่ลงไปปิดโครงการอบรมประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เมื่อวันที่ 2-3 พ.ย. 2563 ที่ผ่านมา ท่านแนะนำให้ขยายความคุ้มครองการรับประกันภัยพืชผลการเกษตรอื่นๆ เช่น ยางพารา แม้ว่าจะไม่มีภัยธรรมชาติแบบข้าวนาปี แต่อาจจะมีเรื่องผลผลิตหรือปริมาณผลผลิตลดลง ซึ่งสามารถที่จะทำประกันได้ ขึ้นอยู่กับรูปแบบที่จะออกกรมธรรม์ แต่จะต้องไปศึกษากันก่อน และต้องเดินหน้าในระยะสั้นและเป็นเรื่องเร่งด่วน
ส่วนมาตรการระยะยาว คือ การพัฒนาหลักเกณฑ์และโครงสร้างเพื่อทำให้พืชผลการเกษตรเป็นเรื่องที่ยั่งยืน จากภัยที่เกิดขึ้นทุกๆ ปี เช่น ภัยน้ำท่วม, ภัยแล้ง ดังนั้นอาจจะต้องมีการเสนอตั้ง “กองทุน” เพื่อรองรับการเกิดภัยธรรมชาติขึ้นมา ซึ่งอยู่ในแนวคิดของแผนพัฒนาการประกันภัยฉบับที่ 4 เพื่อหวังว่าในอนาคตเบี้ยประกันภัยอาจจะสนับสนุนจากเงินกองทุนตรงนี้ก็ได้ และบริษัทประกันมีขีดความสามารถในการรับประกันได้
“ถ้ามีกองทุนขึ้นมาและมีระบบกฎหมายโครงสร้างถาวร ที่กำหนดหน้าที่เป็นระยะยาว น่าจะได้ประโยชน์ ซึ่งเรื่องนโยบายของรัฐบาลด้วย แต่คงจะไม่เหมือนโมเดลกองทุนพิบัติภัยที่ตั้งขึ้นสมัยปี 2554 ช่วงน้ำท่วมใหญ่
ซึ่งขณะนี้กำลังศึกษาทั้งในเอเชียและทั่วโลก สำหรับแนวทางการจัดตั้งกองทุนดังกล่าว ซึ่งทางเวิลด์แบงก์และญี่ปุ่นได้จัดตั้งกองทุนภัยพิบัติระดับภูมิภาค และเชิญประเทศต่างๆ เข้าร่วมไปบ้างแล้ว แต่ไทยยังไม่ได้เข้าร่วม ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษาว่าประเทศไทยควรจะเข้าร่วมไหม ยังเป็นประเทศผู้สังเกตการณ์ อย่างไรก็ดีคาดว่ารูปแบบกองทุนจะเริ่มศึกษาได้ในปีหน้า (2564)”
นายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า ปัจจุบันพัทลุงมีพื้นที่เกษตร 1.5 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ปลูกยางพารากว่า 1 ล้านไร่ โดยกำลังพิจารณาภัยที่จะเกิดขึ้นว่าจะเป็นลักษณะไหน แต่อยากให้พี่น้องที่ทำสวนยางในอนาคตต้องทำประกันภัยเพื่อผ่อนความเสี่ยงภัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของศัตรูพืชก็ดี จึงพยายามเสนอแนวคิดศึกษาการรับประกันภัยต่อไป
“ทั้งนี้ปัจจุบันปัญหาเรื่องราคาจะมีมากที่สุด ส่วนภัยที่เกิดจากศัตรูพืชไม่มาก แต่ก็คงต้องรับฟังจากประชาชนก่อนว่าภัยจากอะไรบ้าง”