ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ความสัมพันธ์ไทย - จีน และ เศรษฐกิจเพื่อนบ้าน ย้อนกลับ
เซินเจิ้น 40 ปีแห่งการก้าวกระโดด
05 พ.ย. 2563

โลกของจีน : โดย ชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ

เซินเจิ้น 40 ปีแห่งการก้าวกระโดด

เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้กล่าวคำปราศรัยเนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 40 ปีแห่งการก่อตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น เมืองที่คนไทยชอบไปซื้อของก๊อปปี้หลากหลายแบรนด์เนมราคาถูก ไม่ว่าจะเป็นนาฬิกา ปากกา เครื่องหนัง เครื่องไฟฟ้า เสื้อผ้า เครื่องประดับ ฯลฯ แต่ปัจจุบันเป็นแหล่งผลิตสินค้าคุณภาพประทับตรา Made in China ที่ส่งออกไปจำหน่ายทั่วโลก 

ชื่อเสียงของเซินเจิ้นเริ่มต้นในปี 1979 ยุคประธานเติ้ง เสี่ยวผิง มอบนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจเปิดสู่ภายนอก ให้ทดลองตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อการส่งออกในเขตมณฑลกวางตุ้ง มณฑลฝูเจี้ยน รุ่งขึ้นสิงหาคม 1980 ประกาศให้เซินเจิ้น จูไห่ ซานโถว (ซัวเถา) และเซี่ยเหมิน เป็นเขตนำร่องในการดำเนินนโยบายการปฏิรูป-เปิดสู่ภายนอก เป็นการสร้างสรรค์สังคมนิยมทันสมัย

ผ่านไปเพียง 4 ทศวรรษ เซินเจิ้นจากเดิมที่เป็นเพียงหมู่บ้านชาวประมงยากจนที่อยู่ชายแดนทางใต้ของจีนแผ่นดินใหญ่ ถูกพลิกเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่โลกต้องตะลึง เพราะวันนี้เซินเจิ้นกลายเป็นเมืองศูนย์กลางเทคโนโลยีระดับโลก   เปรียบเสมือนซิลิคอนแวลเลย์ของจีนที่โดดเด่นด้านนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กลายเป็นเมืองขนาดใหญ่ขนาดพื้นที่ 2,000 ตารางกิโลเมตร มีประชากรอยู่อาศัยเกือบ 20 ล้านคน ขนาดเศรษฐกิจของเซินเจิ้นอยู่ในอันดับ 5 ของเมืองทั่วเอเชีย ยอดมูลค่าการนำเข้า-ส่งออก โตเฉลี่ย 26.1% ต่อปี

สี จิ้นผิง กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า นโยบายเชิงยุทธศาสตร์เกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเดินมาถูกทาง ไม่ใช่แค่เดินต่อ แต่ต้องทำให้ดียิ่งขึ้นและมีระดับที่สูงยิ่งขึ้น พร้อมกล่าวถึง “กฏแห่งการสร้างสรรค์เขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งสังคมนิยมที่มีเอกลักษณ์ของจีน” ซึ่งมีหลายข้อ แต่ที่น่าสนใจและน่าทำความเข้าใจหากจะเอามาใช้พัฒนาบ้านเมืองเราคือ

-ต้องยึดหลักการพัฒนา กล้าบุกเบิก กล้าทดลอง กล้าทำก่อนผู้อื่น ต้องมีแนวความคิดใหม่ ทำให้การปฏิรูปมีความคืบหน้าต่อไป

-ต้องยึดแนวความคิดถือประชาชนเป็นศูนย์กลาง ทำให้ผลสำเร็จจากการปฏิรูปและการพัฒนาเป็นประโยชน์แก่ประชาชนมากขึ้นอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน

-ต้องยืนหยัดการบัญญัติกฎหมายตามหลักวิทยาศาสตร์ บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด มีความยุติธรรมด้านตุลาการ ประชาชนทั่วประเทศเคารพและปฏิบัติตามกฎหมาย ทำให้การปกครองตามกฎหมายกลายเป็นหลักประกันสำคัญของการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ

แค่ 3 ข้อนี้ หากนักการเมืองที่เข้ามาเป็นรัฐบาลปกครองประเทศ หากข้าราชการที่กินเงินเดือนจากภาษีอากรที่รีดเลือดจากประชาชน ยึดเป็นหลักปฏิบัติอย่างจริงจัง ประเทศไทยก็คงพัฒนาไปไกลแล้ว

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 และลัทธิกีดกันทางการค้า (ซึ่งน่าจะหมายถึงสหรัฐอเมริกา) ว่า จะทำให้โลกเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงที่ผันผวน เป็นสถานการณ์ใหม่ที่ทุกชาติทุกภาษากำลังเผชิญหน้า

เศรษฐกิจจีนเปลี่ยนจากช่วงเติบโตอย่างรวดเร็วไปสู่การพัฒนาอย่างมีคุณภาพ ดังนั้น เขตเศรษฐกิจพิเศษยุคใหม่ต้องชูธงสังคมนิยมที่มีอัตลักษณ์ สร้างเฟสใหม่แห่งการพัฒนา

เซินเจิ้นควรดำเนินโครงการเขตสาธิตนำร่องสังคมนิยมที่มีอัตลักษณ์จีน เดินหน้าโครงการเขตอ่าวใหญ่  (Greater Bay Area) กว่างตง (กวางตุ้ง )-ฮ่องกง-มาเก๊า 

-ส่งเสริมกิจการแห่งอนาคต ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล 

-ควรกำหนดมาตรฐานเทียบเท่าชั้นหนึ่งของโลก ส่งเสริมภาคบริการที่สมัยใหม่ ทั้งด้านการเงิน การวิจัยและพัฒนา การออกแบบ บัญชี กฎหมาย รวมไปถึงการจัดประชุมและนิทรรศการ ยกระดับความสามารถและศักยภาพในการแข่งขันของแวดวงบริการให้สูงขึ้น

เหล่านี้คือจุดสำคัญที่สี จิ้นผิง กล่าวไว้ในวันนั้น       

             

เพื่อทำความเข้าใจมากขึ้น จึงได้สอบถาม นายหลิน เหว่ย ประธานบริหารสมาคมการค้าและอุตสาหกรรมไทย-จีน ซึ่งได้รับคำอธิบายว่า เมื่อ 40 ปีก่อน จีนเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ 4 แห่งคือ ซัวเถา เซินเจิ้น เซี่ยเหมิน และจูไห่ โดยเซินเจิ้นประสบความสำเร็จมากที่สุด ตามนโยบายของรัฐบาลจีนที่ส่งเสริมการลงทุนให้แก่นักลงทุนจีนและชาวต่างประเทศ  สร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนด้านความปลอดภัย มีกำไรแน่นอน

จุดเด่นของเซินเจิ้นคือ อยู่ติดกับฮ่องกง แต่ราคาที่ดินแตกต่างกันถึง 10 เท่า สมมติอยู่ที่ฮ่องกงซื้อบ้านราคา 3 ล้านเหรียญฮ่องกง แต่ที่เซินเจิ้นราคาอาจจะแค่ 3 แสนเหรียญ เมื่อเป็นเช่นนี้คนฮ่องกงอาจจะยอมเดินทางไกลหน่อย แต่สามารถซื้อบ้าน ซื้อคอนโดมิเนียม ซื้อที่ดินสร้างโรงงานตั้งบริษัทอยู่ในเซินเจิ้นได้โดยค่าใช้จ่ายต่างๆ ต่ำกว่าฮ่องกงมาก  เซินเจิ้นจึงได้คนฮ่องกงเข้าไปลงทุนส่วนหนึ่ง อีกส่วนเป็นชาวจีนจากภูมิภาคต่างๆ อีกส่วนคือนักลงทุนจากต่างประเทศ  ทำให้พัฒนาอย่างรวดเร็ว

คุณหลินกล่าวว่า 40 ปีของเซินเจิ้นที่เติบโตเป็นเมืองใหญ่ มีความทันสมัย และสวยงาม เทียบเท่าเมืองในยุโรปหรืออเมริกาที่ต้องใช้เวลาพัฒนานับร้อยๆ ปี

นึกภาพแล้วจึงเข้าใจว่า การก่อร่างสร้างตัวของเซินเจิ้นในระยะแรก คือการตั้งโรงงานผลิตสินค้า โดยสินค้าเป้าหมายยุคแรกก็คือ สินค้าแบรนด์ดังระดับโลกที่ขายแก่นักท่องเที่ยวที่เข้าสู่ฮ่องกง เมื่อนักท่องเที่ยวเริ่มรู้ ก็มุ่งหน้าซื้อตรงที่แหล่งผลิตได้ของราคาถูกกว่า 

สินค้าที่ผลิตจากเซินเจิ้นเริ่มพัฒนา และเมื่อถูกร้องเรียนเรื่องลิขสิทธิ์มากขึ้น ประกอบกับรัฐบาลจีนเริ่มให้การคุ้มครองด้านลิขสิทธิ์ มีการเข้มงวดปราบปรามสินค้าลอกเลียนแบบ สินค้าแบรนด์เนมจีนที่มีคุณภาพ ก็เริ่มแจ้งเกิดสู่ตลาดสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลเรื่อง Made in China 2025 ที่เน้นเรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าและสร้างรายได้สู่ประเทศ

วันนี้เซินเจิ้นเป็นที่ตั้งของตลาดหลักทรัพย์ บริษัทชั้นนำอย่าง Huawei ยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมโทรคมนาคม เจ้าของสมาร์ทโฟนที่ครองตลาดโลก หรือ DJI ผู้ผลิตโดรนรายใหญ่ของโลก เลือกเซินเจิ้นเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่

มองภาพใหญ่มองอนาคต “เซินเจิ้น” ยังมีบทบาทสำคัญตามยุทธศาสตร์ Belt and Road หรือ 1 แถบ 1 เส้นทาง ที่จะเชื่อมการค้าการลงทุนและการเงินกับอาเซียน และเอเชีย กับฝั่งยุโรป แอฟริกา         

     

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...