เขียนให้คิด : โดย ซีศูนย์
คดีทุจริตสอบเข้าโรงเรียนนายอำเภอ
สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่เคารพ ตอนนี้คงต้องเล่าเรื่องคดีทุจริตสอบเข้าโรงเรียนนายอำเภอ ต่อจากคราวที่แล้วที่ได้บอกเล่าถึงคำพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตที่ลงโทษจำคุกบรรดาข้าราชการกรมการปกครองที่ถูกฟ้องเป็นจำเลยหลายราย
มาตอนนี้ คงต้องพูดถึงคดีนี้ที่ศาลปกครองสูงสุดได้เคยวินิจฉัยไปก่อนหน้า จากที่ ป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิดทางวินัยกรณีทุจริตในการคัดเลือกข้าราชการของกรมการปกครอง เพื่อเข้าศึกษาอบรมหลักสูตรนายอำเภอ ปีงบประมาณ 2552 ซึ่งได้มีผู้เกี่ยวข้องและถูกชี้มูลความผิดเป็นจำนวน 122 คน และมีการส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาโทษทางวินัย ต่อมากรมการปกครอง มีคำสั่งไล่ออกจากราชการ
ท่านเหล่านั้นได้ยื่นเรื่องไปให้คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมหรือ ก.พ.ค.พิจารณา แต่ก็ที่ทราบครับท่านผู้อ่าน ก.พ.ค.ไม่อาจเปลี่ยนแปลงฐานความผิดที่ ป.ป.ช.ชึ้มูลไปอย่างไรได้อีก คงลดโทษเป็นปลดออก ต่อมาปี 2558 ข้าราชการกลุ่มที่ถูกปลดออกจากราชการก็ได้ยื่นฟ้องอธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมต่อศาลปกครอง ขอให้เพิกถอนคำสั่งปลดออกจากราชการดังกล่าวเนื่องจากเห็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเบื้องต้นศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา โดยสั่งระงับคำสั่งปลดกลุ่มผู้ฟ้องคดีรวม 89 คนออกจากราชการไว้ก่อน จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา
ต่อมาศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาว่า คำสั่งปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการดังกล่าว ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่กลุ่มผู้ฟ้องคดีมิได้รับราชการ ย่อมทำให้หมดโอกาสในการเลื่อนขั้นเงินเดือนกรณีพิเศษหรือตำแหน่งหน้าที่ที่สูงขึ้น หรือหากได้เกษียณอายุราชการไปแล้ว ย่อมไม่อาจกลับเข้ารับราชการได้ ดังนั้น หากให้คำสั่งปลดดังกล่าว มีผลใช้บังคับต่อไป ย่อมเป็นกรณีที่ยากจะเยียวยาแก้ไขความเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีได้ในภายหลัง
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่บริการสาธารณะ ระหว่างการให้ผู้ฟ้องคดีได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลไปก่อน ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทางราชการที่จะได้บุคลากรกลับมาปฏิบัติหน้าที่ อันจะเป็นผลให้มีกำลังคนหรือบุคลากรเพิ่มขึ้นในการบริหารราชการแผ่นดินหรือการจัดทำบริการสาธารณะของรัฐ ก่อให้เกิดความรวดเร็วและต่อเนื่องมากยิ่งขึ้น ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น
ต่อมาเดือนกันยายน 2562 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของ กพค.ที่ลดโทษผู้ฟ้องคดีจากไล่ออกเป็นปลดออกและเพิกถอนคำสั่งของกรมการปกครองที่มีคำสั่งปลดออก โดยเห็นว่าคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนและวิธีการ อันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดสำหรับการดำเนินการทางวินัยตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ให้แจ้งผู้บังคับบัญชาสั่งบรรจุตาม พ.ร.บ.ฯ โดยแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยตามที่ถูกกล่าวหาตามฐานความผิดและขั้นตอนกฎหมาย และออกคำสั่งลงโทษตามฐานความผิด จึงให้มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการ และคืนสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับตามกฎหมายแก่ผู้ฟ้องคดี เสมือนไม่เคยถูกปลดออกจากราชการ
ต่อมากระทรวงมหาดไทยก็ได้มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีเหล่านี้กลับเข้ารับราชการ แต่ในปีต่อมาศาลอาญาคดีทุจริตได้พิพากษาลงโทษจำคุกข้าราชการในเรื่องนี้อีกจำนวนมากดังกล่าวแล้วในตอนก่อน กรณีนี้ก็เหมือนกับคดีอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดแห่งหนึ่งกับพวก ที่ถูกศาลอาญาคดีทุจริตพิพากษาให้จำคุก แต่ศาลปกครองให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษทางวินัยเช่นกันเพียงแต่ในเรื่องนั้น ศาลปกครองมองว่า พฤติการณ์การกระทำเป็นการที่ประชาชนได้ประโยชน์ จึงไม่ใช่เรื่องทุจริต แต่ ป.ป.ช.และศาลอาญาคดีทุจริตเห็นว่าเป็นเรื่องทุจริต
case เช่นนี้จะยังคงมีอยู่อีกมากในภายหน้า ซึ่งก็อาจต้องให้คณะกรรมการพิจารณากรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลยุติธรรม ศาลปกครอง มาวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลให้ชัดเจนในภายหน้า แม้เรื่องนี้ ป.ป.ช.เคยขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการใช้อำนาจของศาลปกครองกับ ป.ป.ช.ให้ชัดเจน แต่อ่านดูแล้วศาลรัฐธรรมนูญก็ยังวินิจฉัยไม่เป็นชัดเจนว่า ผลจะเป็นอย่างไร ก็คงต้องดูกันต่อไปครับ