นายพนัสพล โกสิยาภรณ์ ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางพารา ระยะที่ 2 โดยยึดหลักเกณฑ์เดิมตามโครงการ ระยะที่ 1 กล่าวคือ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ เป็นเกษตรกรชาวสวนยางพาราที่มาขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท. หรือแจ้งข้อมูลพื้นที่ปลูกยางกับ กยท. ก่อนวันที่ 14 พฤษภาคม 2563 เป็นพื้นที่ปลูกยางอายุ 7 ปีขึ้นไปที่เกิดกรีดยางแล้ว รัฐบาลช่วยเหลือรายละไม่เกิน 25 ไร่ ถ้าเป็นยางแผ่นดิบ จะช่วยเหลือ 20 กิโลกรัมต่อไร่ต่อเดือน ยางก้อนถ้วย DRC 50 เปอร์เซ็นต์ 40 กิโลกรัมต่อไร่ต่อเดือน ระยะเวลาประกันรายได้ 6 เดือน สัดส่วนแบ่งรายได้เจ้าของสวนยาง 60 เปอร์เซ็นต์ และคนกรีดยาง 40 เปอร์เซ็นต์ ในส่วนของจังหวัดนราธิวาส จะมีการประชุมคณะกรรมการระดับจังหวัดเพื่อชี้แจงการดำเนินโครงการ ประมาณกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ จากนั้น ประชุมคณะกรรมการระดับอำเภอ/ตำบล ส่วนตัวมองว่าการดำเนินโครงการในปีนี้จะมีรวดเร็ว และจังหวัดนราธิวาสจะจ่ายเงิน Kick Off ประมาณปลายเดือนพฤศจิกายน 2563
ผู้อำนวยการ กยท.แห่งประเทศไทย กล่าวย้ำว่า เกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการ ต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางพารากับ กยท. การขึ้นทะเบียนมีหลักฐานที่ดิน เป็นเจ้าของ เป็นผู้ทำสวน เป็นผู้เช่า และยังเปิดโอกาสให้คนกรีดยางขึ้นทะเบียนได้ ถือเป็นเกษตรกรชาวสวนยางพารา จะได้รับสิทธิ์จาก กยท.ใกล้เคียงกับเจ้าของสวน อาทิ การจ่ายเงินประกันชีวิตให้เกษตรกรทุกรายที่มาขึ้นทะเบียน ทางด้านเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ เช่น ที่ดินในพื้นที่ป่าสงวนที่ดินที่ทางราชการยังไม่ออกหนังสือให้ ให้แจ้งข้อมูลกับ กยท. ซึ่งจะได้รับสิทธิ์โครงการประกันรายได้ของรัฐบาล ด้วยจังหวัดนราธิวาสมีเกษตรกรที่มาขึ้นทะเบียนแล้ว 63,730 ราย ในเนื้อที่ทั้งสิ้น 569,700 ไร่ อย่างไรก็ตาม ขอให้เกษตรกรได้ตรวจสอบข้อมูลของตนเองก่อน ที่เว็บไซต์ กยท. หรือผ่านครูยางอาสาในพื้นที่ ว่ามีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการหรือไม่ ถ้าข้อมูลไม่ถูกต้องก็ขอแก้ไขข้อมูลที่ กยท.สาขา ได้ ซึ่งต้องรีบดำเนินการ
ทั้งนี้ จังหวัดนราธิวาส มีพื้นที่ปลูกยางพารา รวมทั้งสิ้น 966,684 ไร่ มีเนื้อที่เปิดกรีด 829,969 ไร่ ผลผลิตโดยเฉลี่ยกว่า 196,000 ตัน ภาพรวมเป็นเกษตรกรรายย่อย โดยเฉลี่ยรายละ 12 ไร่ ขณะที่สถานการณ์การผลิตของเกษตรกรชาวสวนยางพาราจังหวัดนราธิวาส จะขายผลผลิตในรูปยางก้อนถ้วย 85 เปอร์เซ็นต์ น้ำยางสด 10 เปอร์เซ็นต์ และยางแผ่นดิบ 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางพารา ระยะที่ 1 มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ 43,426 ราย เนื้อที่ 521,612 จ่ายเงินเข้าบัญชีเกษตรกร ทั้งเจ้าของสวนยาง คนกรีดยาง ไปแล้ว รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 814 ล้านบาท รวมถึงยังจ่ายเงินให้เกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ 107 ล้านบาท