สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เผยแพร่รายงานการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ด้านมลพิษขยะ ภายใต้แผนปฏิบัติการ “ประเทศไทย ไร้ขยะ” ตามแนวทาง “ประชารัฐ” ระยะ 1 ปี (พ.ศ. 2559 – 2560) ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยจากการตรวจสอบสังเกตการณ์ระบบกำจัดขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 23 แห่ง พบว่า มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 17 แห่ง ดำเนินการก่อสร้างระบบกำจัดขยะมูลฝอยโดยใช้เงินงบประมาณในการก่อสร้าง มูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 2,842.30 ล้านบาท และมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 6 แห่ง ใช้วิธีจ้างเหมาเอกชนจัดเก็บและกำจัดขยะมูลฝอย
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบสังเกตการณ์ระบบกำจัดขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับงบประมาณก่อสร้างและดำเนินการบริหารจัดการด้วยตนเอง จำนวน 17 แห่ง และการติดตามข้อมูลเพิ่มเติมจากหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลและบริหารจัดการขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พบว่า มีระบบกำจัดขยะปิดใช้งานทั้งระบบ จำนวน 1 แห่ง และมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีระบบกำจัดขยะมูลฝอยแต่ไม่มีการใช้ประโยชน์อุปกรณ์ ครุภัณฑ์ หรือสิ่งก่อสร้างบางรายการตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ รวมถึงมีการใช้งานไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้จำนวน 12 แห่ง
ผลการตรวจสอบยังพบว่า อุปกรณ์ ครุภัณฑ์ หรือสิ่งก่อสร้างบางรายการในระบบกำจัดขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่ง ไม่สามารถใช้งานได้ เนื่องจากชำรุดและไม่ได้รับการซ่อมแซม ซึ่งหากทำการซ่อมแซมจะต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูง จึงส่งผลทำให้อุปกรณ์บางรายการไม่สามารถใช้งานได้ เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 12 ปี โดยอุปกรณ์ที่ชำรุดและไม่สามารถใช้งานได้ที่พบมากที่สุด คือ บ่อบำบัดน้ำเสีย ระบบคัดแยกขยะมูลฝอยชุมชน และระบบน้ำชะล้างขยะมูลฝอยชุมชน (ที่ล้างรถ)
สตง. ระบุด้วยว่า จากการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่ง ขาดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการขยะมูลฝอยในพื้นที่ และระบบกำจัดขยะ รวมถึงอุปกรณ์ครุภัณฑ์ หรือสิ่งก่อสร้างบางรายการในระบบกำจัดขยะมูลฝอยไม่ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ตามที่วัตถุประสงค์กำหนดไว้ส่งผลกระทบ ทำให้เงินงบประมาณแผ่นดินที่ใช้ในการก่อสร้างระบบกำจัดขยะมูลฝอย และจัดหาอุปกรณ์ครุภัณฑ์ หรือสิ่งก่อสร้างในระบบกำจัดขยะมูลฝอย แต่ไม่มีการนำไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ไม่เกิดความคุ้มค่า คิดเป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่า 253.83 ล้านบาท แบ่งเป็น ระบบกำจัดขยะที่ปิดดำเนินการทั้งระบบ จำนวน 1 แห่ง มีมูลค่าการก่อสร้างไม่น้อยกว่า 48.79 ล้านบาท โดยถูกทิ้งร้างไม่ได้ใช้งานเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปีนับถึงวันเข้าตรวจสอบ (ปี พ.ศ. 2559) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่ที่สุ่มตรวจสอบยังไม่มีการนำอุปกรณ์ครุภัณฑ์ หรือสิ่งก่อสร้างในระบบกำจัดขยะมูลฝอยบางรายการไปใช้งานตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้คิดเป็นเงินงบประมาณมูลค่าไม่ต่ำกว่า 205.04 ล้านบาท
นอกจากนี้ การที่อุปกรณ์ครุภัณฑ์ หรือสิ่งก่อสร้างในระบบกำจัดขยะไม่ได้ถูกนำมาใช้งานเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลทำให้ระบบเครื่องจักร และอุปกรณ์ต่าง ๆ เสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา ซึ่งอาจทำให้ระบบกำจัดขยะและอุปกรณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ ชำรุด เสียหาย และไม่สามารถนำกลับมาใช้งานได้อีก รวมถึงก่อให้เกิดค่าเสียโอกาสในการใช้งาน
เบื้องต้น ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน มีข้อเสนอแนะให้อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กำชับให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีระบบกำจัดขยะมูลฝอยในความรับผิดชอบ ให้มีการสำรวจ ตรวจสอบอุปกรณ์ ครุภัณฑ์ หรือสิ่งก่อสร้างในระบบกำจัดขยะมูลฝอยที่เสื่อมสภาพ ไม่สามารถใช้งานได้ หรือมีการใช้งานเป็นระยะเวลานานจนเกินกว่าอายุการใช้งานที่กำหนดไว้ และกำหนดแนวทางบริหารจัดการ ดูแลรักษา เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ และเพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้งานอุปกรณ์ ครุภัณฑ์ หรือสิ่งก่อสร้างที่เสื่อมสภาพดังกล่าวต่อไป