กฟผ. ร่วมเปิดมุมมองทิศทางขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของประเทศ ผ่าน EGAT Digital Series นำเสนอโดย Enlit Asia เพื่อสะท้อนความมุ่งมั่นในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีทันสมัยขับเคลื่อนการผลิตไฟฟ้าของประเทศ สร้างความมั่นคงทางพลังงานเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมความพร้อมสำหรับงาน Enlit Asia Summit and Exhibition 2021 ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 - 25 มีนาคม 2564 ณ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย
เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2563 นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร รองผู้ว่าการอาวุโส การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมให้สัมภาษณ์แบบออนไลน์ ในหัวข้อ “ทิศทางของ กฟผ. ส่งมอบความเป็นเลิศด้านพลังงานและนวัตกรรม : EGAT’s Direction – Delivering Innovation & Energy Excellence” ภายใต้แนวคิด “ขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของประเทศไทย (Powering Thailand’s Energy Transition : How the Energy Transition will Support National Energy Security)”
นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร กล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมพลังงานในปัจจุบันเป็นการเปลี่ยนแปลงระดับโลก ซึ่งมีปัจจัยจากทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม การเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียน การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ หรือแม้แต่สถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลต่อความต้องการใช้พลังงาน การสร้างความมั่นคงทางพลังงาน จึงถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืนของอาเซียน เพื่อให้ประชาชนมีปริมาณไฟฟ้าใช้ได้อย่างเพียงพอ ในราคาที่เป็นธรรม และเชื่อถือได้ กฟผ. ในฐานะองค์กรหลักของประเทศที่ดูแลความมั่นคงระบบไฟฟ้า จึงปรับกลยุทธ์นำนวัตกรรมและระบบอัจฉริยะเข้ามาใช้ในการรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้า เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน พัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะและเทคโนโลยีรูปแบบใหม่เป็น Super Grid เพื่อให้การส่งไฟฟ้ามีเสถียรภาพและความยืดหยุ่น รองรับการซื้อขายพลังงานในระดับภูมิภาค อาทิ โครงการนำร่องระบบกักเก็บพลังงานในระดับโครงข่ายไฟฟ้า (Grid-Scale Battery Energy Storage) ที่สถานีไฟฟ้าแรงสูง เพื่อจัดการระบบโครงข่ายไฟฟ้าในบริเวณที่มีปริมาณพลังงานหมุนเวียนสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำของ กฟผ. (Hydro-Floating Solar Hybrid Project) จำนวน 16 โครงการ ในบริเวณ 9 เขื่อน รวมกำลังผลิตทั้งสิ้น 2,725 เมกะวัตต์ ศูนย์ควบคุมพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Control Center : RECC) เพื่อจัดการและพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน การจัดตั้งศูนย์ควบคุมการตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้า (Demand Response Control Center : DRCC) เพื่อให้สามารถทำงานและสั่งการในระยะไกลในรูปแบบโรงไฟฟ้าเสมือน (Virtual Power Plant) รวมถึงการเข้าสู่ธุรกิจนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อช่วยลดต้นทุนเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า และส่งเสริมการเปิดเสรีในธุรกิจก๊าซธรรมชาติของประเทศไทย ตลอดจนการแสวงหาพันธมิตรด้านเทคโนโลยี เพื่อสร้างโอกาสพัฒนาธุรกิจใหม่จากนวัตกรรมโดยใช้เทคโนโลยีที่หลากหลาย อาทิ เทคโนโลยี AI การซื้อขายแบบ Peer to peer แบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (BESS) นอกจากนี้ กฟผ. ยังเตรียมเดินหน้าโรงไฟฟ้าชุมชนจากเชื้อเพลิงชีวมวล และก๊าซชีวภาพ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามที่ได้รับมอบหมาย ด้วยความมุ่งหวังให้ผู้ใช้ไฟฟ้าได้ประโยชน์สูงสุดจากการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับโลกมาใช้บริหารการจัดการระบบไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ และคุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจยังสามารถติดตามการบรรยายพิเศษเกี่ยวกับศักยภาพความพร้อมการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของประเทศจากผู้บริหารระดับสูงของ กฟผ. ได้ทาง https://www.enlit.world/asia/asia-calendar/powering-thailands-energy-transition ระหว่างวันที่ 5 พฤศจิกายน - 18 ธันวาคม 63