9 พ.ย. 2563 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เพื่อเตรียมพร้อมในการรับมือปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่งมักจะมีความรุนแรงในช่วงการเปลี่ยนฤดู ซึ่งสาเหตุที่มาของฝุ่น PM 2.5 ในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน เช่น การเผาพื้นป่า การเผาวัสดุทางการเกษตร ขณะที่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล สาเหตุหลักมาจากการรถยนต์ดีเซลและการจราจร อุตสาหกรรม และการเผาในที่โล่ง บางขณะสภาพอากาศที่ไม่เอื้อต่อการกระจายตัวของฝุ่นละออง
ดังนั้น แนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในภาพรวมของประเทศ จำเป็นต้องบูรณาการทุกภาคส่วน เพื่อดำเนินงานร่วมกัน ดังนี้
1.เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ โดยทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ ประสานข้อมูลกับกรมควบคุมมลพิษ และ GISTDA จัดทำแผนเผชิญเหตุ ทั้งก่อน ระหว่าง และหลัง เกิดเหตุ ตามกลไกพระราชบัญญัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 2550 บังคับใช้กฎหมาย และเพิ่มความเข้มข้นในการแก้ไขปัญหาตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” กำหนดสถานที่พักชั่วคราว หรือ Safety Zone แจ้งเตือนแนะนำข้อปฏิบัติตนแก่ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เด็กเล็ก ผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว ให้หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง และสวมใส่หน้ากากอนามัย
2.ป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง เข้มงวดตรวจจับรถควันดำ เร่งระบายการจราจรไม่ให้ติดขัด ส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ตรวจสภาพ/บำรุงรักษายานพาหนะขนส่งสาธารณะ ทำความสะอาดพื้นผิวถนน รวมทั้งควบคุมการเผาในที่โล่ง/พื้นที่เกษตรอย่างเคร่งครัด ตรวจสอบและควบคุมการปล่อยมลพิษจากโรงงาน ป้องกันและลดปริมาณฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง เป็นต้น