พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ร่วมการประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำอาเซียนกับผู้นำสตรีอาเซียน เรื่อง “การเสริมสร้างบทบาทสตรีสำหรับประชาคมอาเซียนที่ยั่งยืนและรวมเป็นหนึ่งเดียวในโลกหลังโควิด” ซึ่งเป็นหนึ่งในการประชุมนอกเหนือจากการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 37 ผ่านระบบประชุมทางไกล โดยเป็นการหารือร่วมกันเพื่อเสริมสร้างศักยภาพสตรีในการรับมือกับประเด็นท้าทายในภูมิภาค
นายเหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนามในฐานะประธานอาเซียนและประธานการประชุมกล่าวเปิดการประชุมได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการประชุมว่าเป็นเวทีเพื่อหารือแนวทางการเสริมสร้างศักยภาพของสตรีในการรับมือกับประเด็นท้าทายในภูมิภาค โดยเฉพาะในช่วงการฟื้นฟูหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และเพื่อร่วมสร้างประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยในการประชุมนี้ สมเด็จพระราชินีแม็กซิมา เสด็จเป็นผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติ โดยทรงมีพระราชดำรัสถึงการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการพัฒนา การส่งเสริมศักยภาพสตรีเพื่อการพัฒนาที่ครอบคลุมและยั่งยืนในโลกที่เปลี่ยนแปลง และนางวิคตอเรีย วาวา รองประธานธนาคารโลกสำหรับเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ได้กล่าวถ้อยแถลงเกี่ยวกับผลกระทบของโควิด-19 ต่อสตรี และสังคมที่เติบโตพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่า
นายกรัฐมนตรีของไทย ได้กล่าวว่า ไทยชื่นชมเวียดนามที่ตระหนักถึงความสำคัญในการเสริมสร้างศักยภาพสตรีอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้มีการประชุมผู้นำอาเซียน สมัยพิเศษ เรื่องการเสริมสร้างศักยภาพสตรีในยุคดิจิทัล เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2563 และได้ข้อสรุปที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งตามเป้าหมายของวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025 ทั้งนี้ รัฐบาลไทยได้มีมาตรการต่าง ๆ เพื่อเยียวยากลุ่มสตรีที่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยแบ่งความช่วยเหลือออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่
1. ด้านสวัสดิการและการสงเคราะห์ เช่น ปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัย ช่วยเหลือพนักงานสตรีที่ตั้งครรภ์และถูกเลิกจ้างงานอย่างไม่เป็นธรรม เป็นต้น
2. ด้านส่งเสริมการจ้างงาน ให้สอดคล้องกับศักยภาพและความต้องการในการทำงานของสตรี
3. ด้านการส่งเสริมศักยภาพ ผ่านการฝึกทักษะให้แก่สตรี โดยเฉพาะกลุ่มสตรีแรงงานนอกระบบ
4. ด้านเศรษฐกิจ ด้วยการออกมาตรการพักชำระหนี้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ระยะเวลา 1 ปี
นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำว่า มีสตรีอีกจำนวนมากที่สามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยใช้ศักยภาพและคุณสมบัติที่มี คือ ความเข้มแข็ง เคารพตนเอง พึ่งตนเองได้ และรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งสตรีที่เป็นแนวหน้าในการป้องกันและต่อสู้กับการแพร่ระบาดในชุมชน ตลอดจนสตรีที่เริ่มต้นประกอบธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย ซึ่งถือเป็นพลังขับเคลื่อนที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างประชาคมอาเซียนที่ยั่งยืนและรวมเป็นหนึ่งเดียว พร้อมเสนอแนะ 2 ประการที่อาเซียนควรให้ความสำคัญ คือ
1. ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้สตรีสร้างรายได้และพึ่งพาตนเองได้ ปรับกลยุทธ์การพัฒนาธุรกิจให้เข้ากับสถานการณ์ยุคโควิด-19
2. ส่งเสริมให้สตรีมีบทบาทด้านการสาธารณสุข ซึ่งไทยมีกลุ่มสตรีที่เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จำนวนหลายล้านคน เป็นบทบาทสำคัญในการทำงานเชิงป้องกันและต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในชุมชน ทำให้สามารถควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศได้ในระดับที่น่าพอใจ