นายภาณุพล รัตนกาญจนภัทร ผู้ว่าการการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) เปิดเผยว่า เตรียมหารือกับนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง ในเดือน ธ.ค. นี้ ให้พิจารณาโครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่ใหม่ 2 อัตรา คือ 20% และ 40% ซึ่งหากมีการประกาศใช้โครงสร้างเดิม และจัดเก็บที่อัตราเดียว 40% ในวันที่ 1 ต.ค.2564 จะส่งผลให้ ยสท.ไม่สามารถทำธุรกิจต่อไปได้ และอาจจะต้องปิดโรงงาน ซึ่ง ยสท.มีกำไรจากการขายบุหรี่ที่อัตราภาษีปัจจุบัน ซองละ 67 สตางค์ต่อซอง ปรับลดลงจาก 7 บาทต่อซอง
สำหรับข้อเสนอภาษีสรรพสามิตบุหรี่ 2 อัตราโครงสร้างใหม่ จะคงอัตราจัดเก็บไว้ที่ 20% และ 40% เหมือนเดิม แต่จะพิจารณาองค์ประกอบ 5 ด้าน คือ 1.โครงสร้างภาษีใหม่จะไม่เพียงทำให้ ยสท.อยู่รอดเท่านั้น แต่อุตสาหกรรมบุหรี่และภาคเอกชนจะอยู่รอดทั้งหมด 2.การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจะไม่ลดลง 3.ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง เช่น ตัวแทนจำหน่าย เกษตรกรผู้ปลูกใบยามีรายได้เพิ่มขึ้น 4.กองทุนต่าง ๆ จะได้รับเงินจัดสรรเท่าเดิม เช่น สสส. 5.จะไม่มีคนสูบุหรี่มากขึ้น
นายภาณุพล กล่าวว่า หากโครงสร้างภาษีใหม่ได้รับการเห็นชอบในปีหน้า ยสท.จะสามารถออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่มีราคาขายต่ำกว่า 60 บาท โดยยังสามารถมีกำไรได้ นอกจากนี้ จากการหารือกับ รมว.การคลัง ก่อนหน้านี้ ได้ให้นโยบาย ยสท. ไปคิดผลิตภัณฑ์ใหม่ สูตรพรีเมียม เพื่อส่งออกไปขายในต่างประเทศ เช่นเดียวกับที่บริษัทบุหรี่ต่างชาติ นำบุหรี่เข้ามาขายในไทย โดย ยสท. มีศักยภาพดำเนินการได้ และบุหรี่พรีเมียมก็มีราคาสูง ซึ่งจะทำให้ยาสูบมีรายได้เพิ่มขึ้น
“โครงสร้างภาษีปัจจุบัน ทำให้ ยสท.ยังมีฐานะแข็งแกร่ง 100% ปี 2563 มีกำไรกว่า 900 ล้านบาท เพราะนโยบายรัดเข็มขัด ลดค่าใช้จ่าย แต่ถ้าขยับภาษีอัตราเดียวที่ 40% ยาสูบก็จะขายไม่ได้ ต้องปิดโรงงานไปเลย เพราะต้องเป็นการขึ้นราคาบุหรี่ เพื่อหาเงินมาจ่ายภาษี คงอยู่ไม่ได้”นายภาณุพล กล่าว
นายภาณุพล กล่าวอีกว่า ได้หารือกับ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.การคลัง ซึ่งให้ความเห็นชอบ 1 ล้านเปอร์เซ็นต์ สนับสนุนให้ ยสท.เดินหน้าปลูกกัญชง-กัญชา เป็นพืชเศรษฐกิจเพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์ จากที่ร่วมมือกับสถานศึกษาเพื่อวิจัย พัฒนาเพื่อใช้ในการแพทย์ ให้เพิ่มเป็นสามารถทำข้อตกลงกับภาคเอกชน เพื่อต่อยอดการใช้กัญชง-กัญชาในเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งหลักการ ข้อติดขัดทางกฎหมายต่างๆ ได้เสนอหารือไปที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) แล้ว
ทั้งนี้ หาก สคร.และคลังเห็นชอบ ก็ต้องมีการเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ ขั้นตอนต่อไป ยสท.ก็จะต้องเปิดรับลงทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกกัญชง-กัญชา ให้ชัดเจน ซึ่ง ยสท.มีข้อมูลผู้ปลูกใบยาทั้งหมด สามารถควบคุมได้ จะมีความชัดเจนในปีงบประมาณ 2564 และเริ่มมีการขายได้ในปลายปีงบประมาณ ซึ่งจากการหารือกับเอกชนจะส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้จากการปลูกใบยาสูบเพิ่มจากเดิมที่ 23,000 บาทต่อไร่ เป็น 250,000-500,000 บาทต่อไร่