ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท่องเที่ยว ย้อนกลับ
ภารกิจอันท้าทายของ อพท. “พัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน”
13 พ.ย. 2563

รายงานพิเศษ

ภารกิจอันท้าทายของ อพท.

“พัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน”

 

          การพัฒนาการท่องเที่ยวให้บรรลุเป้าหมายของคำว่า “ยั่งยืน” ได้กลายเป็นโจทย์ใหญ่สำคัญ ที่นานาอารยประเทศทั่วโลก “ต้องการ” และกำลังมุ่งหน้าเดินทางไปสู่วิถีทางนี้ นั่นเพราะ การสร้างการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ไม่เพียงแต่จะสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปอีกหลายมิติ ทั้งในด้านวัฒนธรรม สังคม สิ่งแวดล้อม และปัจจุบันอาจจรวมถึงด้านความปลอดภัยด้วย

                อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึง “การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” แล้ว ก็ต้องมองไปที่ข่าวดีที่เกิดขึ้นกับการท่องเที่ยวของประเทศไทย เพราะเมื่อผลประกาศการจัดอันดับ “100 แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนระดับโลก” หรือ Sustainable Destinations TOP 100 ที่ผ่านมาหมาดๆ มีชื่อ “เชียงคาน” จังหวัดเลย และ “ในเวียง” จังหวัดน่าน ผ่านเกณฑ์คัดเลือก และเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะมีเกณฑ์และข้อกำหนดการตัดสินที่เข้มงวดและครอบคลุมหลายด้าน ซึ่งการติดอันดับดังกล่าว เป็นการแสดงให้เห็นว่า แหล่งท่องเที่ยวนั้น มีคุณภาพ มีการกระจายรายได้ให้คนท้องถิ่น มีการปกป้องประเพณีวัฒนธรรมวิถีชีวิต และปกป้องสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม

ความสำเร็จดังกล่าว ต้องยอมรับว่า คือแรงปลุกปั้น วางแผน ป้อนองค์ความรู้ ร่วมถึงการร่วมดำเนินการอย่างลงลึกกับชุมชนของหน่วยงานที่ชื่อ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจยิ่งนัก

หากจะส่องดูหน้าที่และภารกิจของหน่วยงานจะเห็นว่า บทบาท หน้าที่ และภารกิจของ อพท.นั้น แม้จะเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว แต่ อพท.ไม่ใช่หน่วยงานที่เข้ามาทำตลาดด้านการท่องเที่ยว แต่จะเป็นผู้ลงไปดำเนินการพัฒนาพื้นที่เป้าหมายที่ถูกกำหนดไว้ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งจะเรียกว่า “พื้นที่พิเศษ” ให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่นั้นๆ ไปสู่การเป็นพื้นที่หรือชุมชนการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน รูปแบบการทำงาน อพท.จะเข้าไปเป็นผู้ประสานหน่วยงานภาครัฐ ทั้งจากส่วนกลาง ส่วนท้องถิ่น และประชาชน ให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาในพื้นที่นั้นๆ โดยวางนโยบายและแผนการบริหารการพัฒนา เพื่อก่อให้เกิดความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม คงสภาพแหล่งท่องเที่ยวให้มีความงดงาม สิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม และวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างความประทับใจแก่นักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศให้ระลึกถึงและกลับมาท่องเที่ยวใหม่

หากเปรียบเทียบการทำงานของหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวเพื่อให้เห็นภารกิจของแต่ละหน่ววยงานให้เด่นชัดขึ้น อพท.จึงเปรียบเสมือน “ต้นน้ำ” ในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว พัฒนาชุมชน ส่งเสริมจัดตั้งชมรมส่งเสริมโดยชุมชน เสร็จแล้วส่งไปที่ “กลางน้ำ” คือกรมการท่องเที่ยว ทำเรื่องมาตรฐาน รับรองแหล่งท่องเที่ยว รับรองมาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชน แล้วก็ส่งต่อให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. คือ “ปลายน้ำ” ทำการตลาดต่อไป

                สำหรับพื้นที่พิเศษที่ ครม.เห็นชอบให้ อพท.เข้าไปดำเนินการจัดการนั้น แรกก่อตั้งมีอยู่ 6 แห่งด้วยกัน คือ 1. “หมู่เกาะช้างและพื้นที่ที่เชื่อมโยงกับจังหวัดตราด, 2 “พัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง”, 3. สุโขทัย ที่เรียกว่าพื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร” ครอบคลุม 3 อุทยานประวัติศาสตร์ และ 2 จังหวัด, 4. “พื้นที่พิเศษเลย”, 5. “พื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน” ครอบคลุม 4 ตำบล ในเขตอำเภอเมือง และ 1 ตำบล ในเขตอำเภภูเพียง และ 6. พื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ครอบคลุม 2 เทศบาล

โดยแต่ละพื้นที่จะมีการสร้างต้นแบบขึ้นมา เช่นที่หมู่เกาะช้าง เข้าไปดำเนินการเกาะหมากที่เป็นเกาะบริวาร ให้เป็นต้นแบบเรื่อง โลว์ คาร์บอน เดสติเนชั่น (Low Carbon Destination) เป็นการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พัทยาเป็น กรีนโนเวทีฟ ซิตี้ (Greenovative City) คือ เมืองสิ่งแวดล้อมควบคู่กับความทันสมัย สุโขทัย เป็นแนวของมรดกโลก เลย เมืองแห่งการท่งเที่ยว จะมีการผสมผสานวัฒนธรรม วิถีชีวิตกับธรรมชาติ น่านเมืองเก่าที่มีชีวิต และอู่ทอง เรียกว่า อารยธรรมสุวรรณภูมิ

แนวทางการทำงานของ อพท.คือการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการจัดการแหล่งท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืน มีมาตรฐานระดับสากล พร้อมยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ

ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รักษาการแทน ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า ส่วนสำคัญหรือเครื่องมือสำคัญที่ อพท.นำมาใช้เป็นกรอบในการปฎิบัติเพื่อนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน คือการนำเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ Global Sustainable Tourism Criteria (GSTC) มาใช้เป็นกุญแจสำคัญ ที่ประกอบด้วย 4 มิติ ได้แก่ มิติด้านการบริหารจัดการความยั่งยืนในแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งรวมถึงความปลอดภัยด้วย มิติด้านสังคม-เศรษฐกิจ เพราะการท่องเที่ยวต้องไม่ใช่แค่สร้างรายได้ และต้องสร้างสังคมด้วย เช่น ความสามัคคี มิติด้านวัฒนธรรม และมิติทางด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งสามารถวัดเกณฑ์ได้ในเชิงวิทยาศาสตร์

ปัจจุบัน ผลงานการพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวจากการดำเนินงานของ อพท.ประสบความสำเร็จรุดหน้ามากขึ้นเป็นลำดับ ไม่ว่าจะในระดับใหญ่หรือในระดับชุมชน นับเป็นภารกิจที่สร้างความยั่งยืนไม่เฉพาะแต่ในด้านการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่จะเป็นภารกิจที่จะสร้างความยั่งยืนให้เกิดความผาสุกแก่ประเทศชาติโดยรวมต่อไปอีกด้วย

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...