พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 23 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยที่ประชุมได้ให้ความสำคัญกับความร่วมมือเพื่อรับมือกับโควิด-19 และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ตลอดจนแนวทางขยายความร่วมมืออาเซียน-จีน ในฐานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ โดยอาเซียนยินดีต่อความช่วยเหลือที่จีนให้ผ่านการสนับสนุนเงินจำนวน 1 ล้านดอลลาร์แก่กองทุนอาเซียนโควิด-19 และมุ่งหวังให้จีนสนับสนุนการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน พร้อมทั้งยินดีที่จีนให้คำมั่นว่า วัคซีนโควิด-19เป็นสินค้าสาธารณะ
นายกรัฐมนตรีได้เสนอแนวทางในการฟื้นฟูภูมิภาคให้กลับมาเข้มแข็งกว่าเดิม ด้วยการกำหนดอนาคตร่วมกัน ได้แก่
1.อนาคตทางสาธารณสุข ด้วยการร่วมมือกันเสริมสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับมิตรประเทศในการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนร่วมทำวิจัย พัฒนา และผลิตยา เพื่อแจกจ่ายให้แก่ประเทศในภูมิภาค ภายใต้ศักยภาพทางการแพทย์และโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขที่มีคุณภาพของไทย
2.อนาคตทางเศรษฐกิจ ด้วยการร่วมมือกันเสริมสร้างความแข็งแกร่งบนพื้นฐานของการพึ่งพาระหว่างกันทางเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้น การยึดมั่นในระบบการค้าพหุภาคีที่เปิดกว้างและเสรี และการหารือเพื่อกำหนดมาตรการอำนวยความสะดวกในการเดินทางระหว่างประเทศที่ปลอดภัย เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวได้ดี ควบคู่กับการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคอย่างมีประสิทธิภาพ
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำความจำเป็นในการสานต่อผลสำเร็จของความร่วมมือภายใต้ปีแห่งความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลระหว่างอาเซียน-จีนในปีนี้ โดยมุ่งเน้นการเสริมสร้างขีดความสามารถของผู้ประกอบการ MSMEs start-ups และผู้ประกอบการท้องถิ่น ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและพัฒนาทักษะที่จำเป็น
3.อนาคตที่ยั่งยืน ด้วยการร่วมมือกันเสริมสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ไทยผลักดันในช่วงการเป็นประธานอาเซียนปี ๒๕๖๒ โดยนายกรัฐมนตรีร่วมประกาศให้ปี ๒๕๖๔ เป็นปีแห่งความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนอาเซียน-จีน และในฐานะผู้ประสานงานของอาเซียนเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ไทยจะสานต่อความร่วมมือในเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรมต่อไป
4.อนาคตที่มั่นคงร่วมกัน ด้วยการแสวงหาจุดร่วม และสงวนจุดต่าง ใช้ความยับยั้งชั่งใจ หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า และหันมาหารือเพื่อเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน โดยไทยมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายอย่างสร้างสรรค์ อาทิ การปกป้องสิ่งแวดล้อมทางทะเล และสานต่อการเจรจาจัดทำ COC ที่มีประสิทธิภาพ มีเนื้อหาที่ครอบคลุม และสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ