นายนพดล พลเสน กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้แทนนายวราวุธ ศิลปอาซา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการในสังกัด กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงวัฒนธรรม และ ฝ่ายปกครอง ลงพื้นที่พบปะผู้นำชุมชน และราษฎร เมื่อวันจันทร์ที่ 16 พฤศจิกายน 2563 ณ ศูนย์วัฒนธรรมกะเหรี่ยง บ้านภูเหม็น ต.ทองหลาง อ.ห้วยคต จ.อุทัยธานี และเป็นประธานการประชุมติดตามการแก้ไขปัญหาที่ดินและป่าไม้พื้นที่ชุมชน บ้านภูเหม็น กรณีวนอุทยานห้วยคตทับซ้อนพื้นที่ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น และกรณีพื้นที่สวนป่าไผ่เขียว (ออป.) อีกทั้งการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน (คทช. ของกรมป่าไม้) และแนวทางและกลไกการมีส่วนร่วมในการจัดการพื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรมพิเศษ ตามมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 (คณะกรรมการร่วมฯ) โดยนายธนิตย์ หนูยิ้ม ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) และ หัวหน้าวนอุทยานห้วยคต หัวหน้าวนอุทยานถ้ำเขาวง รวมถึงราษฎร ชนเผ่า มาร่วมให้ข้อมูล และรับทราบแนวทางการแก้ไขปัญหากว่า 200 คน ทั้งนี้ ผลการประชุมสรุป ว่า แนวทางแก้ไขปัญหาที่ดินและป่าไม้ ที่ส่วนราชการในพื้นที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ มีความคืบหน้าไปอย่างรวดเร็วมาก เดินทางมาถูกทาง ส่วนราชการร่วมแรงร่วมใจกันช่วยเหลือราษฎรด้วยความสามัคคี อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาที่ดินป่าไม้ เดินหน้าให้เห็นผลอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อจะใช้พื้นที่นี้ เป็นต้นแบบการแก้ไขปัญหาในที่อื่นของประเทศต่อไป ที่ประชุมได้มอบหมายให้วัฒนธรรมจังหวัดอุทัยธานี กระทรวงวัฒนธรรม เป็นเจ้าของเรื่อง นำไปขับเคลื่อนแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อ เนื่องจากกระทรวงวัฒนธรรม เป็นผู้พลักดันให้คณะรัฐมนตรี มีมติผ่อนผันช่วยเหลือราษฎรตามแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553
นายนพดล พลเสน กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวเพิ่มเติมว่า เป้าหมายของการลงพื้นที่ในวันนี้ เป็นการลงมาพบ มาหา ประชาชน เพื่อรับฟัง รับรู้ปัญหา และช่วยแก้ปัญหาให้ราษฎร เพื่อที่ราษฎรไม่ต้องเดือดร้อน จนต้องเดินทางเข้ากรุงเทพฯ มาที่กระทรวง หรือ ทำเนียบ ตามที่นายวราวุธ ศิลปอาซา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอบหมายให้เป็นผู้แทนลงมาพบปะประชาชน ทั้งนี้ ก่อนเดินทางกลับ นายนพดล พลเสน ผช. รมว. ทส. ได้แนะนำให้หน่วยงานรัฐ เอกชน และชุมชนร่วมกันจัดทำฝายประชารัฐ เพื่อชะลอน้ำไว้ใช้ ไว้เล่น และเพื่อเพิ่มทัศนียภาพ จากนั้นได้เดินทัศนศึกษาตามทางเดินศึกษาธรรมชาติ เพื่อชมความใหญ่ของไม้สมพง เป็นไม้ต้นใหญ่มากมีขนาดใหญ่ที่โคนต้นถึง 36 คนโอบ ถือว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดอุทัยธานี ต่อไป