ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
พลังงาน / สิ่งแวดล้อม ย้อนกลับ
โรงไฟฟ้าชุมชน “วุ่น” เกษตรกรเล็งล่า 1 ล้านชื่อ“วอน”นายกฯช่วย
18 พ.ย. 2563

หลังจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเห็นชอบการส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ตามมติของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ซึ่งมีเป้าหมาย 150 เมกะวัตต์ (ชีวมวล 75 เมกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพ 75 เมกะวัตต์) เกษตรกรออกตัวแรงพร้อมล่า 1 ล้านรายชื่อ แสดงพลังคัดค้านอ้างเงื่อนไขและกติกาไม่โปร่งใส วอนอย่าคิดเล็กคิดน้อยกับพี่น้องเกษตรกรที่จะได้ประโยชน์จากโครงการนี้ คาดหวังความเมตตาจากนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

ก่อนหน้านี้ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรจาก 8 จังหวัด คือ ขอนแก่น, อุดรธานี, หนองคาย, เลย, นครราชสีมา,อำนาจเจริญ, กาญจนบุรี และอุบลราชธานี ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ถึง รมต.กระทรวงพลังงานถึง ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)ถึงอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) และเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เพื่อคัดค้านวิธีการเปิดประมูลโรงไฟฟ้าชุมชนแทนการจับฉลาก และการลดโควตาโรงไฟฟ้าชุมชน จาก 600 เมกะวัตต์ เหลือ 150เมกะวัตต์ ตามที่กระทรวงพลังงานนำเสนอ

ศ.ดร. สุนทร บุญญาธิการ ที่ปรึกษาประธานมูลนิธิพลังงานไทยลดโลกร้อนระบุว่านอกจากจะลดโควตา 600 เมกะวัตต์ เป็น 150 เมกะวัตต์ แล้วยังจะจัดประมูลเปิดทางให้กลุ่มทุนเดิมๆ ทั้งๆ ที่ควรใช้วิธีการจับฉลากซึ่งจะโปร่งใสทุกฝ่ายรับได้ และในอนาคตจะมีการใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้นโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลและจากก๊าซชีวภาพจึงเป็นทางออกที่ดี เพราะชาวบ้านในชุนชนท้องถิ่นจะได้มีส่วนร่วม กระทรวงพลังงานก็น่าจะมีวิสัยทัศน์ในเรื่องแบบนี้อยู่แล้ว

“จึงขอวิงวอนให้รัฐบาล โดยท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทรโอชาซึ่งก่อนหน้านี้ท่านได้ช่วยเหลือให้เกษตรให้มีรายได้เพิ่มขึ้น จากโครงการ Solar Farmมาแล้ว ได้เข้าใจและรับฟังเสียงเรียกร้องและข้อเท็จจริงจากพี่น้องเกษตรกรด้วยวันนี้เราขอให้ท่านช่วยพิจารณาช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรให้สามารถลืมตาอ้าปาก มีรายได้เพิ่ม อีกครั้งหนึ่งที่สำคัญคือเราอย่าไปคิดเล็กคิดน้อยกับโครงการประชารัฐเลยครับ ผมว่าควรเพิ่มโควตาจาก 600 เมกะวัตต์ เป็น 1,000เมกะวัตต์ ด้วยซ้ำไป”ศ.ดร. สุนทร กล่าว

นายเชิดชัย กลางสาทร ประธานวิสาหกิจชุมชนพืชเศรษฐกิจยุคใหม่ จ.นครราชสีมา กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนก่อนมีนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรอย่างยั่งยืนเคยประกาศว่าจะเสนอโครงการ 4,000 เมกะวัตต์ แต่ต่อมาได้ลดลงเหลือ 600เมกะวัตต์ ทั้งๆ แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ที่มาจากสายอุตสาหกรรมแก๊สและน้ำมัน กลับเสนอนายกรัฐมนตรีให้ลดโควตาโรงไฟฟ้าชุมชนจาก 600 เมกะวัตต์ เป็น 150 เมกะวัตต์ เสมือนว่าไม่ให้ความสำคัญเรื่องพลังงานลดโลกร้อน สวนทางกับกระแสโลกที่เน้นพลังงานลดโลกร้อน

“การคัดเลือกโรงไฟฟ้าชุมชนนั้นควรจะใช้วิธีการจับฉลากเพราะโปร่งใส เป็นธรรม เสมอภาค ดีกว่าการประมูล จึงอยากให้นายกรัฐมนตรีรับฟังข้อเรียกร้องของเกษตรกรในข้อนี้เราเชื่อว่าท่านนายกฯ ยังคงเป็นขวัญใจของเกษตรกรทั่วประเทศไปอีกนาน โปรดอย่าผลักไสความรักที่เกษตรกรมีต่อท่านนายกฯออกไปตอนนี้อาจจะมีกลุ่มผู้ไม่หวังดีกำลังให้ข้อมูลลวงๆ กับท่าน”

ทางด้าน นายสมณัณท์ ใสสว่าง ผู้นำเกษตรกร จ.หนองคาย กล่าวว่าที่ต้องออกมาทวงสิทธิ์โควตาที่เป็นธรรม และทวงสิทธิ์ความโปร่งใส เสมอภาค ให้กับเกษตรกรทั่วประเทศและขอส่งเสียงไปถึงนายกรัฐมนตรีให้พิจารณาช่วยเหลือในเรื่องโควตาและวิธีการคัดเลือกโรงไฟฟ้าชุมชนเพราะ เกษตรกรมีประมาณ 40 ล้านคน เป็นกระดูกสันหลังของประเทศ ส่วนใหญ่ยากจน สวัสดิการต่างๆ ก็แทบไม่มี ถ้าท่านนายก คิดถึงพวกเราชาวเกษตรกร โปรดช่วยทำให้โครงการนี้กลับมาเป็น 600เมกะวัตต์ เพื่อสร้างรายได้และสวัสดิการให้แก่เกษตรกร

ไม่เข้าใจว่าทำไมกระทรวงพลังงานจึงไม่ทำตามเจตนารมณ์เดิม พยายามเปลี่ยนแปลงทั้งเรื่องโควตาและวิธีการการคัดเลือก หรือมันเป็นผลประโยชน์ของใคร ปกติโครงการประชารัฐสหกรณ์การเกษตรกับ Solar Farm ที่ผ่านมา ก็ใช้วิธีการจับฉลากทั้ง 2 เฟส ผลงานครั้งนั้นถือว่าเรียบร้อยโปร่งใส ทุกฝ่ายรับได้ แต่คราวนี้กลับจะใช้วิธีการประมูลซ่อนรูป หวังจะให้กลุ่มทุนเดิมเข้ามาผูกขาดหรืออย่างไร?

“เกษตรกรเราไม่มีกำลังเงินขึ้นมาเรียกร้องบ่อยๆ ครับ แต่เรื่องนี้พวกเราสรุปว่าครั้งต่อไปคงจะต้องล่า

รายชื่อเกษตรกร1 ล้านคน เรียกร้องให้ท่านนายกทบทวนความเหมาะสม ถูกต้องบางทีอาจจะมีใครให้ข้อมูลที่บิดเบือน และอาจมีผลประโยชน์แอบแฝงอยู่ด็ได้ จึงต้องขอให้ท่านนายกฯเข้ามาดูความเป็นธรรมให้ด้วย”นายสมณัณท์กล่าว

ขณะที่ นายวิชาญ กันยวิมล ประธานวิสาหกิจชุมชนปุ๋ยอินทรีย์ พิบูลรักษ์ จ.อุดรธานีกล่าวว่ากระทรวงพลังงานควรมีวิสัยทัศน์กว้างไกล เป็นธรรม สนองความตั้งใจของนายกรัฐมนตรี ที่จะมอบหลักประกันให้กับลูกหลานเกษตรกร เป็นเวลาอย่างน้อย 25 ปีเป็นสวัสดิการของเกษตรกร ซึ่งมีจำนวนมากกว่ากลุ่มอาชีพอื่นและโดยความจริงแล้วรัฐบาลเองก็มีปัญหาการสร้างโรงไฟฟ้าขยะ เนื่องจากมีมวลชนออกมาต่อต้านเพราะกลัวมลพิษ โรงไฟฟ้าชุมชนจึงเป็นความหวังมันคือฝันที่เป็นจริงของเกษตรกร

“นายกตู่ ท่านไม่เคยทิ้งเกษตรกรชาวอีสานจึงรักท่านมากแต่ไม่เข้าใจว่าทำไมหน่วยงานที่คุมนโยบายพลังงานของประเทศ จึงพยายามเปลี่ยนแปลงเป้าหมายต่างๆทำให้เกิดปัญหา ขอเถอะครับ อย่าได้ไปลดโควตาจาก 600 เมกะวัตต์ เป็น 150 เมกะวัตต์ และอย่าใช้วิธีการประมูลเพราะจะทำให้พวกทุนบางกลุ่มเข้ามาผูกขาดธุรกิจโรงไฟฟ้าชุมชนของประเทศเราควรใช้วิธีการจับฉลากซึ่งโปร่งใสกว่า คนที่จับฉลากไม่ได้ เขาก็ไม่เสียใจ  เพราะเป็นวิธีที่ยุติธรรม เสมอภาค”นายวิชาญกล่าวปิดท้าย

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...