โลกของจีน : โดย ชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ
รถไฟไทย-จีน : ความเร็วสูง...แต่สปีดต่ำ
โครงการรถไฟไทย-จีน ก่อร่างขึ้นในปี 2553 สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตรงกับช่วงประธานาธิบดี หู จิ่นเทา ของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยจีนเสนอเป็นโครงการความร่วมมือก่อสร้างจากหนองคายถึงกรุงเทพฯ ระยะทาง 580 กิโลเมตร ในระยะเวลา 4 ปี
แต่สถานการณ์การเมืองเป็นเหตุให้ยุบสภาในปี 2554 อย่างไรก็ตาม ได้ถูกนำมาสานต่อในยุครัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยมีบันทึกความเข้าใจศึกษาโครงการในปี 2555 และบรรจุเป็นโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคาย ในปี 2556 ตรงกับช่วงประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ขึ้นดำรงตำแหน่ง
ถ้าไม่ถูกศาลรัฐธรรมนูญคว่ำร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ในปี 2557 ตามด้วย “ดาบสอง” การรัฐประหารโดย คสช.ในเดือนพฤษภาคม ป่านนี้โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน อาจจะสร้างเสร็จและเปิดให้บริการได้แล้ว
รัฐบาล คสช.ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาสานต่อโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ตั้งแต่ปลายปี 2557 แต่ดำเนินการด้วย “ความเร็วต่ำ” เพราะช่วงแรกบอกว่า จะเป็นรถไฟความเร็วปานกลาง หลังปล่อยเวลาผ่านไป 1 ปีเต็ม จึงเพิ่งจะร่วมกับจีนทำสัญลักษณ์ “ปักธง” การเริ่มต้นโครงการความร่วมมือรถไฟไทย- จีน ณ สถานีรถไฟเชียงรากน้อย เมื่อ 19 ธันวาคม 2558
รัฐบาลไทยเพิ่งจะร่วมลงนามอย่างเป็นทางการกับจีนเรื่องโครงการรถไฟความเร็วสูง ในระหว่างการประชุมกลุ่มเศรษฐกิจ BRICS ระหว่างวันที่ 3-5 กันยายน 2560 ณ นครเซียะเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน ในสัญญาโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย โดยเป็นสัญญาการออกแบบและควบคุมงานก่อสร้างฯ เฟสแรก ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร อัตราความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กำหนดเริ่มก่อสร้างภายในปี 2560 แล้วเสร็จในปี 2564
21 ธันวาคม 2560 พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาทำพิธีตักดิน เริ่มงานก่อสร้างเฟส 1 ช่วงกลางดง-ปางอโศก ระยะทางแค่ 3.5 กิโลเมตร โดยให้กรมทางหลวงรับผิดชอบ ซึ่งงานเป็นไปอย่างล่าช้า ใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปีครึ่ง กว่าจะเสร็จ
ที่ตลกคือพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.ผู้นำการรัฐประหารที่เคยบอกว่า ไม่เอารถไฟความเร็วสูง กลับมาเป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาจ้างงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร (สัญญา 2.3) ของโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย และรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพฯ - หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร) วงเงิน 50,633 ล้านบาท ในกรอบวงเงินรวม 1.74 แสนล้านบาท เมื่อ 28 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า กรุงเทพฯ-หนองคาย เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ในการเชื่อมไทยไปสู่ สปป.ลาว และจีน โดยเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมยุคใหม่ (Belt and Road Initiative : BRI) ที่จะเชื่อมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปถึงยุโรปด้วยทางรถไฟ
กว่าจะผลักดันโครงการมาถ7งขั้นนี้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องใช้ ม.44 กับโครงการรถไฟไทย-จีน เพราะมีปัญหาหลายด้านที่ต้องอาศัยอำนาจพิเศษ อาทิ 1. การก่อสร้างที่ต้องใช้สถาปนิกและวิศวกรของจีน ทำให้ติดกฎหมายต้องสอบใบอนุญาตประเภทบุคคลจากไทยก่อน 2. พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง ที่ต้องผ่านกระบวนการของซุปเปอร์บอร์ด กรณีวงเงินลงทุนเกินกว่า 5,000 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งอาจจะต้องมีการยกเว้นในเรื่องนี้ 3. การกำหนดราคากลาง ที่ไทยใช้ระบบจัดซื้อจัดจ้างแตกต่างจากจีนที่ไม่มีราคากลาง 4. เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา มีบางพื้นที่ต้องผ่านเขตป่าสงวนหรือพื้นที่ของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กำหนดให้ใช้เฉพาะทำการเกษตรเท่านั้น
ถ้าเทียบกับรัฐบาล สปป.ลาว ที่ได้ลงนามในข้อตกลงกับรัฐบาลจีนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2558 ในโครงการก่อสร้างทางรถไฟจีน-ลาว มูลค่าการลงทุน 2.38 แสนล้านบาท ระยะทาง 417 กิโลเมตร จากชายแดนจีน-ลาวที่เมืองบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทาถึงนครหลวงเวียงจันทน์ โดยนายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ได้ลั่นฆ้องชัย 9 ครั้งในพิธีเริ่มการก่อสร้างเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2559 ที่บ้านพอนไช เมืองหลวงพระบาง ถึงวันนี้งานก่อสร้างในลาวคืบหน้ากว่า 90% มีกำหนดแล้วเสร็จเปิดใช้งานในเดือนธันวาคม 2564
เส้นทางรถไฟจีน-ลาวนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเชื่อมจีนสู่อาเซียน จากเมืองคุนหมิง มณฑลยูนนานของจีนเข้าลาว-ไทย-มาเลเซีย-สิงคโปร์ เป็นเครือข่ายรถไฟโดยสารและบรรทุกสินค้า
แต่แผนการเชื่อมโยงคนและสินค้าจากจีนคงสะดุดอยู่แค่นครหลวงเวียงจันทร์อีกหลายปี เพราะความล่าช้าของการก่อสร้างในเขตไทย กล่าวคือ ช่วงกรุงเทพฯ- นครราชสีมา 253 กิโลเมตร คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2568 ส่วนช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 354.5 กิโลเมตร มี 5 สถานี ได้แก่ บัวใหญ่ บ้านไผ่ ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย ตอนนี้อยู่ระหว่างการออกแบบรายละเอียดงานโยธา และยังไม่มีกำหนดว่า จะเปิดประมูลเมื่อไร จะก่อสร้างเมื่อไร และจะเปิดให้บริการปีไหน โดยช่วงกลางปีที่ผ่านมา การรถไฟแห่งประเทศไทยเพิ่งจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นในทุกจังหวัดตามแนวเส้นทาง
รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์คงคิดว่า “ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม” ค่อยๆ คิดค่อยๆ สร้างไม่ต้องออกตัวเร็ว วันหนึ่งข้างหน้าคงจะเสร็จ