นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า หลัง ททท.ได้จัดทำ โครงการ Amazing Thailand Safety and Health Administration (SHA) ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งหวังว่าจะสามารถยกระดับมาตรฐานด้านความปลอดภัยและสุขลักษณะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขในด้านหลักเกณฑ์ วิธีการ และมาตรฐานป้องกันความเสี่ยงจากโรคติดเชื้อ COVID-19 ทำให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยได้ทราบและเป็นแนวปฏิบัติสู่วิถีปรกติใหม่ (New Norm) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยและสุขอนามัยของสถานประกอบการ ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวมีความมั่นใจในการใช้บริการ ทำให้เกิดการจับจ่ายสินค้าท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้แก่ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย
โดยโครงการ SHA ยังจะเป็นช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูลมาตรฐานการท่องเที่ยวไทย รวมทั้งข้อมูลสถานประกอบการ สถานบริการ แหล่งท่องเที่ยว ที่มีความปลอดภัยและถูกสุขลักษณะ หลังจากสถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 คลี่คลายในอนาคต ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวจากทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการ SHA จำนวน 14,958 ราย ( ข้อมูล ณ วันที่ 30 ตุลาคม 2563 ) ซึ่งเกินกว่าที่ ททท. ได้ตั้งเป้าหมายไว้
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการ SHA ที่มีการจัดประเภทการบริการไว้ 10 ประเภทกิจการ จำนวนผู้ประกอบการด้านโรงแรมและที่พักสถานที่จัดการประชุม มีจำนวนที่ได้รับตราสัญลักษณ์ SHA มากที่สุดถึง 3,501 ราย รองลงมาคือผู้ประกอบการประเภทภัตตาคาร / ร้านอาหาร มีจำนวนผู้ที่ได้รับตราสัญลักษณ์ SHA 1,873 ราย และผู้ประกอบการด้านบริษัทนำเที่ยวมีจำนวนผู้ที่ได้รับตราสัญลักษณ์ SHA 1,033 ราย
นอกจากนั้น ททท. ยังได้มีการจัดทำแบบสอบถามความพึงพอใจของผู้ใช้บริการต่อสถานประกอบการที่ได้รับมาตรฐาน SHA พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เชื่อมั่นในผู้ประกอบการที่รับตราสัญลักษณ์ SHA เนื่องจากสถานประกอบการต่างๆ มีมาตรการด้านการจัดการและดำเนินการด้านสุขอนามัยตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ผู้ใช้บริการมีความเขื่อมั่นในการตัดสินใจเลือกใช้บริการมากยิ่งขึ้น
โครงการ Amazing Thailand Safety and Health Administration (SHA) ททท.ได้ริเริ่มขึ้นเพื่อต้องการสร้างความเชื่อมั่นในด้านการให้บริการของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ซึ่งเกิดผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้คนไม่ออกเดินทาง ดังนั้น การจะให้คนออกเดินทางอีกครั้ง ต้องสร้างความเชื่อมั่นและมั่นใจ โดยใช้หลักการด้านสาธารณสุขมาปรับใช้ เป็นการท่องเที่ยวในแบบ New normal แม้ว่าผู้ประกอบการจะต้องปรับตัว เพิ่มขั้นตอนต่างๆ ซึ่งในช่วงแรกๆ อาจจะมีปัญหาบ้าง เช่น เรื่องการจัดการพื้นที่ การจัดการเรื่องของการให้บริการ และการสร้างการรับรู้ และเปลี่ยนพฤติกรรมการบริการที่คุ้นเคยของพนักงานในระดับต่างๆ
“แต่เมื่อคุ้นเคย ปัญหาต่างๆ ก็ลดน้อยลง ทุกวันนี้เรียกได้ว่า ทุกคนในส่วนของการบริการเข้าใจ และมีพฤติกรรมในแถบบวิถีใหม่ได้เป็นอย่างดี ซึ่งทุกวันนี้ สัญลักษณ์ SHA ได้กลายเป็นมาตรฐานใหม่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เพราะลูกค้าเกิดความเชื่อมั่นในสินค้าและบริการ นักท่องเที่ยวรู้สึกพอใจกับการบริการที่เน้นเรื่องของ ความสะอาด ความถูกสุขลักษณะ และมีพื้นที่ส่วนตัวมากขึ้น ความแออัดน้อยลง แม้จะต้องแลกกับขั้นตอนในการรับบริการที่เพิ่มขึ้นบ้าง แต่ทุกอย่างเราทำเพื่อให้ทุกคนมีความปลอดภัย ในขณะที่ธุรกิจก็ยังเดินหน้าไปได้" นางสาวฐาปนีย์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจความพึงพอใจของโครงการ SHA ททท.เชื่อว่า SHA จะเป็นสัญลักษณ์ของความเชื่อมั่นที่ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวไม่อาจปฏิเสธ เพราะ SHA ได้กลายเป็นมาตรฐานของสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวคุณภาพ โดยเฉพาะในเรื่องของความเชื่อมั่นในด้านสุขอนามัยของสินค้าและบริการ