ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
สื่อสาร - คมนาคม ย้อนกลับ
คมนาคมทุ่มงบ 7.6 หมื่นล้าน ลุยพัฒนาระบบขนส่งภาคใต้
19 พ.ย. 2563

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจติดตามความคืบหน้าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต กระบี่ ตรัง พังงา ระนอง และสตูล โดยมีโครงการสำคัญ ได้แก่

1. โครงการทางพิเศษ สายกะทู้ - ป่าตอง มูลค่า 14,177.22 ล้านบาท กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เป็นผู้ดำเนินการ คาดว่าจะนำเสนอคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติในหลักการ รูปแบบการลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) และอนุมัติร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เวรคืนที่ดิน ในช่วงต้นปี 2564 เริ่มก่อสร้างในปี 2566 แล้วเสร็จในปี 2570

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่าได้มอบนโยบายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในโครงการไปบูรณาการร่วมกันในการศึกษารายละเอียดของเส้นทางและปริมาณของผู้ใช้บริการในโครงการต่างๆ โดยให้ตรวจสอบพื้นที่อย่างถี่ถ้วน อีกทั้งศึกษาการใช้เทคโนโลยี่ให้ทันกับยุคสมัยในปัจจุบันเพราะมีผลต่อโครงการและการกำหนดราคาค่าโดยสาร หากสามารถลดต้นทุนของโครงการลงได้ก็จะทำให้ราคาค่าโดยสารถูกลง รวมทั้งให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ทบทวนการจัดทำเอกสารข้อเสนอ (Request for Proposal: RFP) เพื่อเปิดกว้างให้บริษัทเข้าร่วมเสนองานรูปแบบโครงการที่เหมาะสมกับสถาณการณ์ปัจจุบันเพื่อให้สามารถลดต้นทุนของโครงการ และให้ความสำคัญในด้านมาตรการความปลอดภัยจากการใช้เส้นทางด้วย

2. โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต (แทรม.) ช่วงท่าอากาศยานภูเก็ต - ห้าแยกฉลอง กระทรวงคมนาคมได้มอบมอบหมายให้ รฟม.เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินโครงการฯ โดยแบ่งเส้นทางออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานภูเก็ต - ห้าแยกฉลอง และระยะที่ 2 ช่วงสถานีรถไฟท่านุ่น - สถานีเมืองใหม่ ซึ่ง รฟม. ได้เริ่มดำเนินโครงการฯ ระยะที่ 1 เป็นลำดับแรก ระยะทางรวม 41.7 กม. กรอบวงเงินลงทุนเบื้องต้น 35,201 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มงานก่อสร้างในปี 2566 แล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ในปี 2569

3. โครงการก่อสร้างทางหลวงแนวใหม่ สายเมืองใหม่ - เกาะแก้ว ขณะนี้กรมทางหลวงได้จ้างที่ปรึกษาเพื่อบริการด้านวิศวกรรมการสำรวจและออกแบบรายละเอียดทางหลวง 4 ช่องจราจร แนวใหม่ สายบ้านสาคู - บ้านเกาะแก้ว ระยะทาง 22.4 กิโลเมตร วงเงินค่าก่อสร้าง 11,568 ล้านบาท ค่าเวนคืน 11,150 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถขอรับการจัดสรรงบประมาณก่อสร้างได้ในปี 2567 เปิดให้บริการในปี 2569

4.  โครงการพัฒนาโครงข่ายทางหลวง 4027 ระยะทาง 20.8 กิโลเมตร วงเงินค่าก่อสร้าง 1,200 ล้านบาท ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 1,150 ล้านบาท แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ตอน ปัจจุบันได้ออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างการเตรียมการจัดส่งรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment Report  : EIA) ให้สำนักงานและนโยบายแผนสิ่งแวดล้อม ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 นี้ และโครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับที่จุดตัด ทล.402 กับ ทล.4027 (แยกท่าเรือ) โดยในปีงบประมาณ 2564 ได้รับงบประมาณสำหรับการออกแบบและรายละเอียดและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในวงเงิน 18 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถเสนอของบประมาณก่อสร้างในปีงบประมาณ 2567

5. การพัฒนาขยายความยาวทางวิ่งท่าอากาศยานตรัง ความยาวของทางวิ่งจากเดิม 2,100 เมตร เป็น 2,990 เมตร วงเงิน 1,800 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำข้อกำหนดและขอบเขตของการจ้าง คาดว่าจะดำเนินการตามขั้นตอนและลงนามในสัญญาได้ภายในเดือนมิถุนายน 2464 ทั้งนี้ การขยายความยาวทางวิ่ง มีที่ดินที่ต้องเวนคืนทั้งสิ้น 670 ไร่ วงเงิน 500 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลเพื่อออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.)  เวนคืนที่ดิน และขอรับจัดสรรงบประมาณปี 2565

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. เผยรายละเอียดของโครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตองจังหวัดภูเก็ตว่า โครงการดังกล่าว แต่เดิมเป็นความริเริ่มของเทศบาลเมืองป่าตองมาตั้งแต่ปี 2552 โดยมีการศึกษาความเหมาะสมในด้านต่างๆ พบว่า มีความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ แต่มีมูลค่าการลงทุนสูง ทางเทศบาลป่าตองไม่สามารถดำเนินการเองได้ ต่อมาในปี 2555 ในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดภูเก็ต คณะรัฐมนตรีได้มีมติมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมโดย กทพ. ดำเนินการศึกษาและออกแบบโครงการ และในปีต่อมาจึงได้เริ่มดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดโครงการและจัดทำรายงานการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน (Public Private Partnership : PPP)

โดยในปี 2561 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้เห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment Report  : EIA) รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้เห็นชอบรายงาน PPP กทพ.จึงดำเนินการส่งรายงาน PPP ให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณา พร้อมทำหนังสือขออนุญาตใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้เพื่อดำเนินโครงการ โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563 กทพ.ได้รับความอนุเคราะห์จากอธิบดีกรมป่าไม้ให้เข้าร่วมประชุมหารือ ซึ่งผลการประชุมมีมติว่า กรมป่าไม้จะเร่งรัดการประสานงานกับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ให้เร็วขึ้น และรับดำเนินการอนุญาตการใช้พื้นที่เพื่อก่อสร้างโครงการอย่างช้าไม่เกินเดือนมกราคม 2564

ทั้งนี้ หากเป็นไปตามแผน กทพ.จะเสนอโครงการฯ ให้ สคร.เห็นชอบในเดือนมกราคม 2564 โดยคาดว่า คณะรัฐมนตรีจะอนุมัติหลักการของโครงการในเดือนพฤษภาคม 2564 และเริ่มดำเนินการคัดเลือกผู้รับสัมปทานให้ได้ภายในเดือนมิถุนายน 2564

"โครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จะเป็นโครงการแรกของ กทพ.ที่ดำเนินโครงการในต่างจังหวัด โดยมีลักษณะพิเศษคือ การเจาะอุโมงค์ทะลุภูเขาความยาว 1.85 กิโลเมตร และจะเป็นทางพิเศษสายแรกที่อนุญาตให้รถจักรยานยนต์ขึ้นใช้ได้ ทั้งนี้ หากเป็นไปตามแผนคาดว่า จะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2570 ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่รวมถึงนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก เพราะปัจจุบันการเดินทางจากอำเภอกะทู้ไปยังชายหาดป่าตองต้องใช้เส้นทางข้ามภูเขานาคเกิด เส้นทางมีความคดเคี้ยว ลาดชัน ทำให้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุในเส้นทางดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ทางพิเศษสายนี้ นอกจากจะเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการเดินทางแล้ว ยังจะช่วยลดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้เป็นอย่างดี” นายสุรเชษฐ์ กล่าว

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...