นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านกฎหมายในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและสตรี ระหว่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ โดยมีนางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และนางสุทธินี เมธีประภา นายกสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เป็นผู้ลงนาม เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนของสังคม รวมทั้งการให้ความรู้ ความเข้าใจแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนถึงสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและสตรี
นายจุติ กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและสตรีมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการดำเนินการด้านกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาความรุนแรงอย่างมีประสิทธิภาพ และต้องได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนของสังคม รวมทั้งการให้ความรู้ ความเข้าใจแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนถึงสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ทั้งนี้ กระทรวง พม. และสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จึงร่วมกันจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านกฎหมายในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและสตรี โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ 1) ความร่วมมือด้านกฎหมายในการป้องกันปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและสตรี สนับสนุนและร่วมมือกันฝึกอบรมเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านกฎหมายให้แก่บุคลากรทางการศึกษา ประชาชนทั่วไป และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการป้องกันปัญหา การให้คำปรึกษาแนวทางในการป้องกันปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และสตรี 2) ความร่วมมือด้านกฎหมายในการคุ้มครองสิทธิผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวและสตรี ให้ความช่วยเหลือผู้ถูกกระทำความรุนแรงตามกฎหมาย เช่น ให้คำแนะนำปรึกษาให้การช่วยเหลือกรณีการฟ้องคดีต่อศาล ตลอดจนให้การช่วยเหลือและสนับสนุนโอกาสการเข้าถึงสิทธิด้านต่างๆ ของผู้ถูกกระทำความรุนแรง และ 3) ความร่วมมือด้านการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ จัดให้มีการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์กฎหมายที่เกี่ยวข้องในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและสตรีแก่ประชาชนทุกภาคส่วนในวงกว้าง ให้ได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการกระทำที่ก่อให้เกิดปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและสตรี
นายจุติ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการปฏิบัติงานของสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พมจ.) ทุกจังหวัด เป็นหน่วยประสานงาน ให้คำปรึกษา และแนะนำแนวทางในการปฏิบัติด้านกฎหมายในปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและสตรี รวมทั้งการคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกระทำความรุนแรงและสตรีในพื้นที่