กระทรวงสาธารณสุข เร่งรัดป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ เน้นความดันโลหิตสูงและเบาหวาน ตั้งเป้าลดอาหารหวานมันเค็มลงร้อยละ 30 ประชาชนรอบรู้ด้านสุขภาพ รู้ตัวเลขบ่งชี้ความเสี่ยงการเกิดโรคไม่ติดต่อ ตั้งแกนนำด้านสุขภาพช่วยจัดมาตรการสร้างเสริมสุขภาพระดับองค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชน
26 พ.ย. 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ 5 ปี (พ.ศ.2560 – 2564) ครั้งที่ 1/ 2563 เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 โดยคณะกรรมการ ฯ ได้เห็นชอบการขับเคลื่อนนโยบายเร่งรัดการป้องกันและควบคุมโรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวาน (Together Fight NCDs) โดยมีเป้าหมายภายในปี 2565 ให้คนไทยลดการบริโภคน้ำตาลและโซเดียมลงร้อยละ 30 หรือลดอาหารหวานมันเค็มลง เพิ่มการออกกำลังกายและการมีกิจกรรมทางกาย ประชาชนมีความรอบรู้ด้านสุขภาพ รับทราบตัวเลขที่บ่งชี้สุขภาพและระดับความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อ ได้แก่ ภาวะอ้วน โดยค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ไม่ควรเกิน 23, ความดันโลหิตสูง ไม่เกิน 120/80 mmHg ระดับน้ำตาลในเลือดไม่เกิน 100 mg/dl โดยสามารถประเมินความเสี่ยงของตนเองผ่านแอปพลิเคชัน Thai CV Risk Score นอกจากนี้ จะลดผู้ที่เป็นโรคเบาหวานหรือความดันโลหิตสูงที่ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นลงร้อยละ 50 และผู้ที่ป่วยที่เข้ารับการรักษาสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและระดับความดันโลหิตได้เกินครึ่ง
นอกจากนี้ ยังเห็นชอบมาตรการป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อระดับองค์กร โดยให้มีแกนนำด้านสุขภาพ (Chief Health Officer) เพื่อจัดมาตรการสร้างเสริมสุขภาพระดับองค์กรในทุกหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน และแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนองค์กรรอบรู้ด้านสุขภาพป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อระดับกรม โดยบุคลากรในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ต้องได้รับการตรวจสุขภาพประจำปี, จัดโรงอาหารทุกกรมเป็น Healthy Canteen จัดอาหารทางเลือกเพื่อสุขภาพ, จัดสถานที่และสร้างบรรยากาศให้บุคลากรในสังกัด เพิ่มกิจกรรมทางกายและมีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ส่งเสริมและสนับสนุนบุคลากร ลด ละ เลิกการสูบบุหรี่ และเลิกการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ทั้งนี้ ข้อมูลกรมควบคุมโรคล่าสุดปี 2557 คนไทยป่วยเป็นโรคเบาหวานร้อยละ 8.9 หรือ 4.8 ล้านคน ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงร้อยละ 24.7 หรือ 13.3 ล้านคน โดยข้อมูลในปี 2562 มีผู้ที่ไม่รู้ว่าตนเองเป็นเบาหวานร้อยละ 43.1 ผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่ได้รับการรักษาร้อยละ 2.7, ผู้ป่วยที่รักษาแต่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ร้อยละ 30.6 ส่วนผู้ที่ไม่รู้ว่าตนเองเป็นความดันโลหิตสูงร้อยละ 44.7 ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาร้อยละ 6.1, รักษาแต่ควบคุมระดับความดันโลหิตไม่ได้ร้อยละ 19.5