นายสมชาย แสวงการ ส.ว. ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม กล่าวว่า ในการพิจารณาคงต้องนำความเห็นของส.ว.อภิปรายและการแปรญัตติ แต่ก็ไม่ทิ้งของส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน และข้อเสนอของภาคประชาชน มาดูว่าอะไรเป็นข้อกัวล เช่น เรื่องพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ไม่ได้มีอยู่แต่หมวด 1 หมวด 2 เท่านั้น แต่มีอยู่ในอีก 38 มาตรา ถ้าไปแก้ไขทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆแล้วสังคมรับไม่ได้ก็จะนำไปสู่ความขัดแย้ง จึงจำเป็นต้องเขียนให้รัดกุม
นายสมชาย กล่าวว่า ส่วนเรื่องสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)ก็ต้องดูคุณสมบัติให้ชัดเจน เพราะที่ผ่านมาเขียนส.ส.ร.แล้วตัวเองได้ประโยชน์ จากการกลับเข้ามาเป็นส.ส.และส.ว.หรือองค์กรอิสระ แม้กระทั่งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญยังมีบทยกเว้นว่าควรจะเว้นวรรคกี่ปี ที่จะไม่เข้าไปเป็นส.ส. ส.ว.หรือองค์กรอิสระ ดังนั้นคุณสมบัติส.ส.ร.ก็ควรจะมีจำกัดเหมือนกัน เพราะต้องไปเขียนรัฐธรรมนูญของประเทศไม่ใช่เป็นการเซ็นต์เช็คเปล่า หากไม่มีคุณสมบัติใดๆเลยก็อาจจะเขียนรัฐธรรมนูญโอนอำนาจใดๆก็ได้เอื้อประโยชน์กลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลัง
ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำเป็นจะต้องคุ้มครองอำนาจของส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี และต้องให้อยู่ครบตามวาระ 5 ปีหรือไม่นั้น นายสมชาย กล่าวว่า ไม่ว่าการร่างรัฐธรรมนูญ จะให้ ส.ว.อยู่หรือไป ตนไม่ติดขัดอะไร เพราะในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ก็ยังมีการเซ็ตซีโร่บางองค์กรอิสระ ดังนั้น ส.ว.ก็เหมือนกัน ถ้าจะให้ไปก็ไป ให้อยู่ก็อยู่ แต่อำนาจการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น เกิดขึ้นจากการทำประชามติของประชาชน หากจะแก้ไขตัดอำนาจ ส.ว.ในเรื่องนี้ จะทำอย่างไร ล้มไปเฉยๆ เลย หรืออาจจะต้องกลับไปถามประชาชนอีกครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องหารือกัน