นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม รองอธิบดีรักษาการอธิบดีกรมการค้าภายใน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ได้เห็นชอบการกำหนดราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงและการชดเชยส่วนต่างราคาให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 63/64 งวดที่ 1 โดยจะชดเชยส่วนต่างให้กับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรและระบุวันเพาะปลูกตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.63 และระบุวันคาดว่าจะเก็บเกี่ยวก่อนวันที่ 1 ธ.ค.63 ในราคา กก. ละ 0.26 บาท ซึ่งเป็นส่วนต่างระหว่างราคาประกันกก.ละ 2.50 บาทต่อกก. และราคาตลาดล่าสุดที่กก.ละ 2.24 บาท เชื้อแป้ง 25% โดยจะจ่ายเงินส่วนต่างวันที่ 1 ของเดือน เป็นเวลา 12 เดือน งวดแรกจะจ่ายในวันที่ 1 ธ.ค.63
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า นโยบายประกันรายได้เกษตรกรที่รัฐบาลได้ดำเนินการมาแล้ว 1 ปีเต็ม ปีนี้ย่างเข้าสู่ปีที่ 2 มีข้อดีคือ แม้ในยามที่พืชเกษตรตกต่ำ แต่ยังมีรายได้ที่รัฐบาลประกันให้ และปีนี้ รัฐบาลประกันรายได้เกษตรผู้ปลูกสินค้าเกษตร 5 ชนิดเช่นเดิมคือ ข้าวเปลือก มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์ม และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รัฐบาลได้จ่ายเงินงวดแรกให้กับเกษตรกรไปแล้วเมื่อวันที่ 20 พ.ย.63 ส่วนงวดต่อไปจะจ่ายทุกเดือน โดยรัฐกำหนดราคาประกันไว้ที่กิโลกรัม (กก.) ละ 8.50 บาท ความชื้น 14.5%
ส่วนข้าวเปลือกเริ่มจ่ายส่วนต่างแล้วงวดที่ 1 เมื่อวันที่ 9 พ.ย.63 และจะจ่ายทุกสัปดาห์ หลังจากเก็บเกี่ยวตามเวลาเก็บเกี่ยวที่เกษตรกรแจ้งกับกรมส่งเสริมการเกษตรไปแล้ว, ยางพารา กำหนดราคาประกัน ยางแผ่นชั้น 3 กก.ละ 60 บาท น้ำยางข้น กก.ละ 57 บาท และยางก้อนถ้วย กก.ละ 23 บาท, มันสำปะหลัง ประกันรายได้ กก.ละ 2.50 บาท โดยจ่ายเงินส่วนต่างทุกเดือน รวมทั้งหมด 12 งวด โดยงวดแรกจะจ่ายวันที่ 1 ธ.ค.นี้ ขณะที่ปาล์มน้ำมัน ประกันรายได้กกำงละ 4 บาท แต่ขณะนี้ราคาตลาดสูงถึงกก.ละ 6-7 บาท จากมาตรการของกระทรวงพาณิชย์ที่ทำให้ราคาปาล์มน้ำมันดีขึ้น
นายจุรินทร์ กล่าวว่า สำหรับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรนั้น ตนเองได้รับมอบหมายจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เป็นประธานกองทุนฯ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร โดยเฉพาะรายย่อยที่เป็นหนี้โดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่ใช้บุคคลค้ำประกันนั้น ซึ่งก่อนหน้านี้กองทุนฯ ไม่สามารถแก้ปัญหาได้เนื่องจากติดข้อกฎหมายนั้น แต่วันนี้ตนเองได้เสนอแก้ไขกฎหมายใหม่แล้ว มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 24 ก.ย.63 ต่อไปนี้กองทุนฯ สามารถแก้ปัญหาหนี้ให้เกษตรกรที่ใช้บุคคลค้ำประกัน และเกษตรกรเป็นหนี้สินส่วนใหญ่จะเป็นรายย่อยกว่า 400,000 ราย ล่าสุดกองทุนฯ ได้ช่วยเหลือได้แล้วถึง 165,000 ราย
"เกษตรกรที่กำลังจะถูกดำเนินคดี เพราะไปเป็นหนี้สถาบันการเงิน หรือหนี้นายทุนโอนหนี้มาเป็นของกองทุนฯ แทนนั้น กองทุนฯจะไม่ฟ้องร้องดำเนินคดีจนกว่าจะผ่อนชำระหมด และไม่ยึดที่ดินมาเป็นหนี้ของกองทุนฯแล้ว แต่จะให้เกษตรกรผ่อนชำระกองทุนฯ ด้วยดอกเบี้ยพิเศษ 1% เมื่อผ่อนหมดแล้ว จะคืนโฉนดให้ ซึ่งวันนี้ ผมได้มามอบโฉนดคืนให้ทั้งหมด 10 ราย ที่จังหวัดแพร่ แต่มีที่จังหวัดอื่นๆ อีกรวมทั้งหมด 242 ราย รวมถึงกองทุนญจะซื้อหนี้จากเกษตรกรอีก 2,582 ราย รวมแล้วมาช่วยจัดการปัญหาหนี้และให้ผ่อนชำระกับกองทุนฟื้นฟูทั้งหมดเกือบ 3,000 ราย" นายจุรินทร์ กล่าว