นายกีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง หรือ MEA กล่าวว่า MEA ได้รับรางวัล Great Practice ประเภท Emerging market ในเวที Global Corporate Sustainability Awards : GCSA 2020 ประเทศไต้หวัน จากโครงการพัฒนาชุมชนสู่ความยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (กรณีชุมชนคอยรุ๊ตตั๊กวา) ถือเป็นรางวัลระดับสากลตอกย้ำความสำเร็จในการมุ่งมั่นส่งเสริมพัฒนาชุมชนสังคมสิ่งแวดล้อมในฐานะหน่วยงานที่ให้บริการด้านระบบจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ควบคู่กับวิสัยทัศน์พลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร
ผู้ว่าการ MEA กล่าวต่อว่า MEA มีการดำเนินงานด้านการส่งเสริมพัฒนาชุมชนสังคมเพื่อความยั่งยืนตลอดมา ซึ่งการได้รับรางวัลในครั้งนี้ถือเป็นโครงการด้านสังคมที่ MEA ดำเนินการส่งประกวดโดยตรงเองในเวทีต่างประเทศ ก่อนหน้านี้ MEA ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร ได้รับรางวัล Asia Responsible Entrepreneurship Awards 2018 สาขา Green Leadership จากโครงการนำเสาไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้งานจากโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินนำไปปักป้องกันคลื่นชายทะเลชายบางขุนเทียน สำหรับ ชุมชนแผ่นดินทองคอยรุตตั๊กวา (คอยรุตตั๊กวา แปลว่า คุณงามความดีที่มอบแด่พระเจ้า) ตั้งอยู่ที่หมู่ 5 ตําบลโคกแฝด อําเภอหนองจอก กรุงเทพมหานคร อยู่ในความรับผิดชอบของการไฟฟ้านครหลวงเขตมีนบุรี มีพื้นที่ประมาณ 500 ไร่ ด้านหนึ่งติดคลอง น้ำในคลองค่อนข้างสะอาด สามารถใช้ในการอุปโภคได้ มีจํานวนครัวเรือนทั้งหมดประมาณ 189 ครัวเรือน ประกอบอาชีพหลักคือ การรับจ้าง ทำเกษตรกรรม คนในชุมชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม วิถีชีวิตของชุมชนนี้ ยึดหลักการ “ศาสนานําชีวิต” อาศัยศาสนาเป็นแม่บทต้นแบบ มีการรักษาขนบธรรมเนียม ประเพณี วิถีชีวิตแบบพึ่งพาตนเองลักษณะการรวมกลุ่มค่อนข้างเหนียวแน่น มีระบบสังคมเครือญาติทำให้การประสานงานความช่วยเหลือกันและกันภายในชุมชนมีสูง มีพื้นฐานด้านการเกษตร และความเชื่อเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ประกอบกับโครงการดังกล่าวสามารถต่อยอดการพัฒนาในชุมชนของชาวมุสลิมสำคัญทั้งในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียงจำนวน 157 มัสยิดในกรุงเทพมหานคร ภายหลังจากการประชุมเสวนาร่วมกับชุมชน พบว่า ชุมชนมีความต้องการในเรื่องของการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน โดยเฉพาะค่าอาหาร เนื่องจากสถานที่ตั้งชุมชนอยู่ห่างไกลจากตลาด ค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารและค่าเดินทางจึงเป็นภาระของครัวเรือน ประกอบกับชุมชนอยู่ติดกับคลองลำไทร จึงมีแนวคิดที่จะเพาะเลี้ยงปลา โดยเฉพาะปลาดุก เนื่องจากเพาะเลี้ยงง่าย โตไว อาหารสำหรับปลามีทั่วไปในพื้นที่ รวมถึงเศษอาหารในครัวเรือนก็สามารถนำมาเลี้ยงปลาได้ คนในชุมชนบริโภคปลาดุกได้ ไม่ขัดกับหลักการทางศาสนา MEA เห็นว่า แนวทางการดำเนินการดังกล่าว บางส่วนสอดคล้องกับเรื่องของ การลงทุนเพื่อสังคม (Social enterprise investment) จึงได้สนับสนุนและให้คำแนะนำชุมชนในการก่อสร้างบ่อเลี้ยงปลาดุกและพันธุ์ปลา จำนวน 5 บ่อ โดยให้ชุมชนเป็นผู้ศึกษาวิธีการเพาะเลี้ยง มีการร่วมกันลงแรงจัดทำและขุดบ่อปลา มีการเก็บข้อมูลและศึกษาการเจริญเติบโตของปลาดุกตลอดวงจรชีวิต การเปลี่ยนถ่ายน้ำและการลดผลกระทบต่าง ๆ ที่อาจส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การปล่อยน้ำเสียจากบ่อ เป็นการนำหลักการเศรษฐกิจพอเพียงข้อที่ 3 “ภูมิคุ้มกัน” หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ มีการคิดคำนวณความต้องการบริโภคปลาภายในชุมชน มีเป้าหมายเพื่อนำปลามาใช้บริโภคในงานกิจกรรมต่าง ๆ เป็นการลดค่าใช้จ่ายโดยตรง
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของชุมชน และเพื่อขยายผลการให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพปลอดภัยให้แก่ชุมชน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในภารกิจหลักของ MEA จึงปรึกษาร่วมกับผู้แทนชุมชน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปรับปรุงระบบไฟฟ้าในชุมชนรวมถึงการนำพลังงานทดแทนมาใช้ในพื้นที่มัสยิด วัตถุประสงค์เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย และสร้างแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานทดแทนที่สามารถขยายผลไปยังชุมชนอื่น ๆ จึงได้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์พร้อมอุปกรณ์ควบคุมและจ่ายไฟฟ้าใช้ในพื้นที่มัสยิด ซึ่งเป็นศูนย์กลางของคนในชุมชนและเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียง และเพื่อใช้เป็นแหล่งจ่ายไฟฟ้าสำหรับใช้ในกิจกรรมของมัสยิด พร้อมจัดทำสื่อความรู้ และสื่อประชาสัมพันธ์ ซึ่งส่งผลให้ชุมชนสามารถประหยัดค่าไฟฟ้า ที่สำคัญคือ คนในชุมชนมีความรู้ ความเข้าใจและความเชื่อมั่นในเรื่องของการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น สามารถถ่ายทอดความรู้และผลที่ได้รับให้กับคณะบุคคลที่ขอเข้ามาเยี่ยมชมศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ สามารถสร้างชุมชนที่เป็นแกนหลักตัวแทนในการต่อยอดพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมสร้างความยังยืนต่อไป
#พลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร
Energy for city life, Energize smart living