ที่ห้องพิจารณา 904 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.838/2561 นายชัชวาล อภิบาลศรี อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อดีตที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ และอดีตประธานคณะกรมการเร่งรัดการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เป็นจำเลย ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตร 326, 328 และขอให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนโจทก์เป็นจำนวนเงิน 100 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี กรณีนายวัชระให้ข่าวเรื่องการเสนอใช้งบประมาณสร้างรัฐสภาใหม่โดยพาดพิงนายชัชวาล
คำฟ้องโจทก์ระบุพฤติการณ์ สรุปว่า เมื่อวันที่ 7 มี.ค.2561 จำเลยได้ร่วมจัดรายการ "สามัคคีประชาชน" ทางสถานีโทรทัศน์สยามไทย กล่าวทำนองว่า โจทก์เป็นขาใหญ่ใน สนช. อาละวาดในที่ประชุมคณะกรรมการเร่งรัดฯ จะเอาเงิน 5,000 ล้านบาทโดยผลักดันงบไอทีจาก 3,000 ล้านบาท ไปเป็น 8,000 ล้านบาท กำลังจะโกงประชาชนทั้งประเทศ ต่อมาวันที่ 10 มี.ค.2561จำเลยแถลงข่าวที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ ทำนองว่า โจทก์เป็นผู้มีอำนาจเหนือประธาน สนช.ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่าโจทก์ไม่ให้ความเคารพผู้บังคับบัญชา และกล่าวยืนยันว่า โจทก์เป็นผู้สั่งให้เพิ่มโป่งพองงบสูงซึ่งเป็นเท็จ
จากนั้น ในวันที่ 12 มี.ค. 2561 จำเลยให้สัมภาษณ์ในรายการ "นิวส์หมายข่าว" กล่าวทำนองว่า โจทก์ผลักดันงบประมาณโป่งพอง และรังแกข้าราชการรัฐสภา 18 คน ให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวน
ในวันที่ 13 มี.ค 2561 จำเลยกล่าวในรายการ "นิวส์หมายข่าว" ช่อง New 18 ทำนองว่า โจทก์เป็นผู้มีบารมีตัวจริงใน สนช.ทั้งหมดทั้งที่เป็นเท็จ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โดยนายวัชระ จำเลยให้การปฏิเสธและได้รับการประกันตัว
วันนี้นายวัชระเดินทางมาศาล ให้สัมภาษณ์ก่อนขึ้นห้องพิจารณาว่า ไม่มีความกังวลใจใดๆ เพราะตนได้ปฏิบัติตามหน้าที่ในฐานะอดีต ส.ส. ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ในการปราบโกง ปกป้องเงินภาษีของประชาชน ในงบ ICT การก่อสร้างอาคารรัฐสภา ที่มีการปั้นงบ 8 พันกว่าล้านบาท จาก 6 พันล้านบาท ตนจึงได้ทำหนังสือคัดค้านไปยังนายกรัฐมนตรี จนคณะรัฐมนตรีเห็นชอบด้วยพร้อมไม่อนุมัติงบประมาณดังกล่าว เมื่อมีการฟ้องหมิ่นประมาทก็เป็นเรื่องธรรมดา โดยตนได้นำพยานผู้เชี่ยวชาญมานำสืบหักล้างข้อกล่าวหาของโจทก์ได้ทุกประเด็น ดังนั้น วันนี้ไม่ว่าศาลจะตัดสินอย่างไร ตนก็พร้อมน้อมรับ
ต่อมา ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์จำเลยนำสืบแล้ว จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์และพยานมีการเบิกความทำนองเดียวกันเกี่ยวกับการถูกดูหมิ่น มีการระบุชื่อโจทก์ชัด กล่าวว่าเป็นขาใหญ่ ซึ่งตามพจนานุกรมให้ความหมายว่า เป็นนักเลงหรือผู้มีอิทธิพล กล่าวหาโจทก์จะทุจริต กลั่นแกล้งข้าราชการชั้นผู้น้อย และสั่งประธาน สนช. ได้ ทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสี่ยง
ส่วนจำเลยนำสืบต่อสู้ว่า เป็นการปกป้องประเทศจากการทุจริตงบประมาณ ยับยั้งงบโป่งพองได้ ติชมด้วยความสุจริตเป็นธรรม ขณะเกิดเหตุงบประมาณไม่แน่นอน จำเลยต้องการยับยั้ง
ศาลเห็นว่า การที่จำเลยกล่าวยืนยันตัวโจทก์ ใส่ความโจทก์ มิใช่การติชมด้วยความเป็นธรรม จึงเห็นว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ส่วนที่โจทก็เรียกค่าสินไหมทดแทน 1 ล้านบาทนั้น (ลดจากเดิม 100 ล้านบาท) ศาลเห็นว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ แต่ที่โจทก์ขอมามากเกินไป จึงกำหนดให้ 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี
พิพากษาว่า จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป จำคุกกระทงละ 1 ปี ปรับ 120,000 บาท รวม 4 กระทง จำคุก 4 ปี ปรับ 480,000 บาท คำให้การเป็นประโยชน์ลดโทษ 1 ใน 3 เป็นจำคุกกระทงละ 8 เดือน ปรับ 80,000 บาท รวม 4 กระทง จำคุก 32 เดือน ปรับ 320,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ลงโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เดลินิวส์ 3 วัน และใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์
ทั้งนี้ ภายหลังฟังคำพิพากษาแล้ว นายวัชระ เปิดเผยว่า ขอน้อมรับในคำพิพากษาของศาลชั้นต้น แต่จำเลยขอยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ เพราะเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งจำเลยจะขอความเมตตาจากศาลสูงต่อไป