“เฉลิมชัย” เตรียมเรียกทูตเกษตร วางแผนรับมือสหรัฐฯ ตัดจีเอสพี ขณะ สศก.แนะเร่งสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรลงทุนประเทศมีจีเอสพีเป็นแต้มต่อ
นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ช่วงปลายเดือน พ.ย.2563 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะมอบนโยบายตามแผนงานปีงบประมาณ 2564 อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายเกษตร) ประจำสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ หรือทูตเกษตรทั่วโลก เพื่อผลักดันนโยบายและแผนงานภาคการเกษตรให้สามารถปรับตัวสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
ทั้งนี้ นายเฉลิมชัย ได้สั่งการให้ทูตเกษตรเตรียมข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านการเกษตรและความต้องการของต่างประเทศ ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อให้กระทรวงเกษตรฯสามารถกำหนดนโยบายและแผนงานให้ภาคการเกษตร สามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงการปรับเปลี่ยนกฎหมายและระเบียบของประเทศคู่ค้าที่จะมีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร เช่น มาตรการการทำประมงที่ผิดกฏหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (ไอยูยู) ที่สหรัฐอเมริกากำลังจะนำมาใช้นโยบาย Green Deal ที่จะเป็นกลไกขับเคลื่อนเพื่อการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป หรืออียู
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า สศก.กำลังศึกษาผลกระทบเชิงลึกต่อภาคเกษตร หลังสหรัฐอเมริกาตัดสิทธิพิเศษทางภาษี (จีเอสพี) สินค้าไทย กรณีไม่เปิดตลาดหมูเนื้อแดงให้สหรัฐ โดยมีผลใวันที่ 30 ธ.ค. 2563 สำหรับผลกระทบต่อสินค้าเกษตร หลังมีการระงับจีเอสพีมีสินค้าจำนวน 231 รายการ พบเป็นรายการสินค้าเกษตรจำนวน 44 รายการ ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าพืชผัก ผลไม้ ลูกนัต เครื่องเทศ เมล็ด ผลและสปอร์ ที่ใช้สำหรับการเพาะปลูก ไขมันและน้ำมันที่ได้จากพืช รวมถึงน้ำตาลและกลูโคส โดยการระงับสิทธิจีเอสพีดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อราคาขายสินค้าเกษตรที่จะเพิ่มสูงขึ้นจากภาษีนำเข้าที่จะเพิ่มขึ้นจาก 0% เป็น 1.9 - 9.6% จากรายการสินค้าเกษตร 44 รายการพบว่ามีสินค้าเกษตรที่มีการนำเข้าในตลาดสหรัฐฯจำนวน 22 รายการ ประกอบด้วย สินค้าเกษตรที่ถูกเรียกเก็บตามมูลค่าสินค้า (Ad valorem) จำนวน 13 รายการ
นอกจากนี้ ทำให้ไทยจะมีต้นทุนทางภาษีที่เพิ่มขึ้นประมาณ 17.72 ล้านบาท ซึ่งสินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบต้นทุนทางภาษีเพิ่มขึ้นมาก 5 อันดับแรก ได้แก่ พืชมีชีวิต ไขมันและน้ำมันที่ได้จากพืช พืชผักปรุงแต่ง กลูโคสและน้ำเชื่อมกลูโคส และเครื่องเทศ นอกจากนี้ ยังมีสินค้าเกษตรที่ถูกเรียกเก็บภาษีตามสภาพ (Specific Rate) อีก 9 รายการ ซึ่งจะมีภาษีเพิ่มขึ้นตามปริมาณการนำเข้าของสินค้าอีกจำนวนหนึ่งด้วย เช่น ถั่วลิสงปรุงแต่งหรือทำไว้ไม่ให้เสียเมล็ดถั่วบีน เมล็ดพืชผักที่ใช้สำหรับการเพาะปลูก มะม่วงปรุงแต่ง และถั่วมะแฮะแห้ง
อย่างไรก็ดี การดำเนินการต่อไปของไทยเพื่อลดผลกระทบดังกล่าว เพื่อส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรรมให้เกิดความยั่งยืน ไทยควรปรับตัวต่อสถานการณ์ดังกล่าว โดยลดต้นทุนการผลิตเพื่อชดเชยกับอัตราภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น ผ่านนโยบายของรัฐบาล เช่น การทำเกษตรแปลงใหญ่และการปลูกพืชในพื้นที่ที่เหมาะสม รวมทั้งเร่งเสริมสร้างประสิทธิภาพการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้า (Value Added) พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานความปลอดภัย เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือเพื่อให้ผู้บริโภคมีความพึงพอใจและยอมจ่ายในราคาที่สูงขึ้น
อีกทั้งควรให้ความสำคัญกับการขยายตลาดไปยังประเทศอื่น เพื่อลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ เช่น การส่งเสริมให้มีการเปิดตลาดกับประเทศคู่เจรจาเอพทีเอของไทยให้มากขึ้น เช่น เร่งทำข้อตกลงทางการค้า โดยเฉพาะกับสหภาพยุโรป (อียู) และความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เพื่อทดแทนตลาดสหรัฐฯ รวมทั้งการไปลงทุนผลิตในประเทศที่ยังคงได้รับสิทธิจีเอสพีอยู่ เป็นต้น