กรมทางหลวงชนบท เดินหน้าก่อสร้างถนน 4 เลน วงเงิน 1.1 พันล้าน หนุนขยายตัวเศรษฐกิจเมืองพิษณุโลก พร้อมดันโครงข่ายถนนหนุนการท่องเที่ยว 3 โปรเจค ไทยแลนด์ ริเวียร่า - นาคาวิถี - บูรพาคีรี ระยะทางรวมกว่า 1.7 พันกิโลเมตร
นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า กรมจะก่อสร้างถนนผังเมืองรวม สาย ฉ2 ผังเมืองรวม จังหวัดพิษณุโลก ส่งเสริมเศรษฐกิจแก้ปัญหาจราจรติดขัด รับการเจริญเติบโตของเมืองในอนาคต ที่มุ่งเน้นระบบการคมนาคมขนส่งในเขตชุมชนเมือง ให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว รองรับการพัฒนาเมืองในอนาคต เนื่องด้วยจังหวัดพิษณุโลก เป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่สำคัญและเป็นศูนย์กลางของหน่วยงานราชการเกือบทุกกระทรวง มีแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมทางประวัติศาสตร์หลายแห่งที่สำคัญ
ปัจจุบันในเขตตัวเมืองพิษณุโลกมีการจราจรหนาแน่น จึงจำเป็นจะต้องพัฒนาระบบการเดินทางและขนส่งในเขตเมือง ให้มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ในการช่วยลดปริมาณการจราจรบนโครงข่ายถนน ที่มีการจราจรสูง โดยเฉพาะในช่วงเวลาเช้าและช่วงเวลาเย็น เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในตัวเมือง และเป็นการรองรับการเจริญเติบโตของเมืองพิษณุโลกในอนาคต เพื่อใช้เป็นเส้นทางลัดและเส้นทางเชื่อมชุมชนเมืองในอนาคต
สำหรับโครงการก่อสร้างถนนตามผังเมืองรวม ถนนสาย ฉ2 ผังเมืองรวมเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลกเป็นถนนโครงการก่อสร้างใหม่ เริ่มต้นที่ถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 ช่วง กม.ที่ 30+80 ซึ่งห่างจากถนนทางหลวงชนบทสาย พล.2032 ประมาณ 660 เมตร ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือตัดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 ช่วง กม.ที่ 2+180 บรรจบกับถนนธรรมบูชา (ถนนของ อบจ.พิษณุโลก) เป็นจุดสิ้นสุดโครงการ ระยะทางรวมประมาณ 9.627 กม.
รูปแบบถนนโครงการเป็นถนนลาดยางขนาด 4 ช่องจราจร มีความกว้างผิวจราจรช่องละ 3.50 เมตร มีไหล่ทางข้างละ 3.50 เมตร เขตทางประมาณ 30 เมตร ปัจจุบันได้ดำเนินการสำรวจออกแบบแล้วเสร็จ ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการยกร่างพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลสมอแข ตำบลอรัญญิก และตำบลหัวรอ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก
รายงานข่าวเพิ่มเติม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2563 คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน ในท้องที่ ตำบลสมอแข ตำบลอรัญญิก และตำบลหัวรอ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก พ.ศ. …. เพื่อสร้างทางหลวงชนบท สายเชื่อมระหว่างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 กับถนนธรรมบูชา เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปทำการสำรวจเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องได้มาโดยแน่ชัด รวมทั้งเพื่ออำนวยความสะดวกและความรวดเร็วแก่การจราจรและการขนส่ง อันเป็นกิจการสาธารณูปโภค
มีพื้นที่ที่ถูกเวนคืนประมาณ 247 ไร่ จำนวน 329 แปลง มีอาคารและสิ่งปลูกสร้างที่ถูกเวนคืน 68 รายการ ใช้งบประมาณในการดำเนินโครงการประมาณ 1,103.5750 ล้านบาท เป็นค่าสำรวจรายละเอียดอสังหาริมทรัพย์ประมาณ 8 ล้านบาท ค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ประมาณ 96.5750 ล้านบาท และค่าก่อสร้างประมาณ 999 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน ก่อนหน้านี้ นายปฐม เฉลยวาเรศ เปิดเผยด้วยว่า ปัจจุบัน ทช.มีนโยบายที่จะเพิ่มศักยภาพของโครงข่ายสายทางเพื่อพัฒนาให้เป็นถนนเพื่อการท่องเที่ยวและเส้นทางชมทิวทัศน์ (Scenic Route) จึงได้ดำเนินโครงการพัฒนาถนนเพื่อการท่องเที่ยวและเส้นทางชมทิวทัศน์ (Scenic Route) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของไทยตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561-2580)
โดยมีการปรับปรุงถนนทางหลวงชนบทให้มีความสะดวกสบายและความปลอดภัยในการเดินทางเข้าถึงและเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ รวมถึงการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้เป็นจุดชมทิวทัศน์หรือแหล่งเรียนรู้ในชุมชน ซึ่งในปัจจุบัน ทช.อยู่ระหว่างดำเนินการ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ระยะทางรวมกว่า 1.7 พันกิโลเมตร (กม.) ดังนี้
1.ถนนเลียบชายฝั่งทะเลภาคใต้ (Thailand Riviera) เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวตามแนวชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของอ่าวไทย จากจังหวัดสมุทรปราการถึงจังหวัดนราธิวาส แบ่งการดำเนินการเป็น 4 ระยะคือ
ระยะที่ 1 จากจังหวัดสมุทรสงครามถึงจังหวัดชุมพร ระยะทางประมาณ 659 กิโลเมตร ปัจจุบันดำเนินการก่อสร้างไปแล้วมากกว่าร้อยละ 80 จำนวน 35 โครงการ ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง จำนวน 5 โครงการ และในปี 2565 ได้เสนอของบประมาณดำเนินการอีก จำนวน 2 โครงการ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมดในปี 2566
ระยะที่ 2 จากจังหวัดชุมพรถึงจังหวัดสงขลา ระยะทางประมาณ 555 กิโลเมตร เริ่มต้นก่อสร้างบางช่วงแล้วตั้งแต่ปี 2563 โดยมีแผนก่อสร้างขยายไหล่ทาง 25 โครงการ ปรับปรุงผิวจราจร 41 โครงการ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมดในปี 2569
ระยะที่ 3 จากจังหวัดสมุทรปราการถึงจังหวัดสมุทรสงคราม ระยะทางประมาณ 144.59 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการสำรวจออกแบบและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม คาดว่าจะเริ่มต้นก่อสร้างได้ในปี 2566 แนวเส้นทางประกอบด้วย แนวเส้นทางสายหลัก ความยาวรวม 88.64 กิโลเมตร, แนวเส้นทางที่แยกออกไปยังแหล่งท่องเที่ยว ความยาวรวม 48.75 กิโลเมตร และแนวเชื่อมต่อกับถนนเลียบชายฝั่งทะเลอ่าวไทยช่วงจังหวัดสมุทรสาครถึงจังหวัดชุมพร ความยาวรวม 7.20 กิโลเมตร
ระยะที่ 4 จากจังหวัดสงขลาถึงจังหวัดนราธิวาส ระยะทางประมาณ 190 กิโลเมตร คาดว่าจะสำรวจออกแบบในปี 2566 นอกจากนี้ ยังมีการสำรวจออกแบบถนนเพิ่มเติมแนวเลียบเทือกเขาตะนาวศรี ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระยะทางประมาณ 250 กิโลเมตร แนวเส้นทางประกอบด้วย แนวเส้นทางสายหลัก ความยาวรวม 186 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 6 อำเภอ ของจังหวัดเพชรบุรี และ 2 อำเภอ ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์, แนวเส้นทางที่แยกออกไปยังแหล่งท่องเที่ยว ความยาวรวม 71.30 กิโลเมตร และแนวเส้นทางที่เชื่อมกับโครงข่ายทางหลวงสายหลัก ความยาวรวม 87.70 กิโลเมตร
2. ถนนเลียบแม่น้ำโขง “นาคาวิถี” สนับสนุนเขตพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำโขง จากจังหวัดเลยถึงจังหวัดอุบลราชธานี ระยะทางรวมประมาณ 750 กิโลเมตร โดยปัจจุบันได้ดำเนินการสำรวจออกแบบระยะที่ 1 แล้ว จากจังหวัดมุกดาหารถึงจังหวัดนครพนม ระยะทางประมาณ 42 กิโลเมตร และจะดำเนินการสำรวจออกแบบส่วนที่เหลือในระยะถัดไป ทั้งนี้ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2565
3. ถนนเลียบชายเขาด้านทิศใต้ของเขาใหญ่ “บูรพาคีรี” มีระยะทางประมาณ 175 กิโลเมตร ผ่านแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญหลายแห่งในจังหวัดนครนายก นครราชสีมา ปราจีนบุรี และสระแก้ว เช่น อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และอุทยานแห่งชาติปางสีดา ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างสำรวจออกแบบ