ก.พลังงาน สรุปผลงานรอบ 2 ปี ลดค่าครองชีพคนไทย ประหยัดค่าน้ำมัน 306,000 ล้านบาทต่อปี ค่าไฟฟ้าลด 92,103 ล้านบาท ผลักดันการลงทุนด้านพลังงานสูงสุดในประวัติศาสตร์กว่า 1 ล้านล้านบาท สร้างงาน-อาชีพแก่วิศวกรยันเกษตรกร พร้อมเปิดมิติประชารัฐร่วมกับชุมชนเปลี่ยนพลังงานทดแทนเป็นรายได้เพิ่ม ยันวางรากฐานบูรณาการแผนพลังงานระยะยาว 5 ด้าน ไทยมีพลังงานอย่างมั่นคงพร้อมก้าวสู่เมืองอัจฉริยะ คู่ดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงผลงานในรอบ 2 ปีของกระทรวงพลังงานภายใต้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยมีผลงานที่สำคัญๆ ได้แก่
1. การลดค่าครองชีพให้แก่ประชาชน กระทรวงพลังงานได้เร่งแก้ไขปัญหาโครงสร้างราคาพลังงาน โดยยกเลิกการอุดหนุนราคาพลังงาน ปลดภาระหนี้สินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งเป็นปัญหาค้างคามายาวนานกว่า 7,000 ล้านบาท โดยได้บริหารจัดการให้ราคาน้ำมันปรับลดลงทุกประเภท ส่งผลให้ประชาชนลดค่าน้ำมันได้ 306,000 ล้านบาท นอกจากนี้ในส่วนของค่าไฟฟ้า ได้ปรับราคาลดลงต่อเนื่องเช่นกันสูงถึง 52.68 สตางค์ต่อหน่วย ช่วยให้ประชาชนลดค่าไฟฟ้าลงได้ 92,103 ล้านบาท
2. เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพให้คนไทยเพิ่มขึ้น โดยถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ภาคพลังงานเกิดการลงทุนสูงสุดถึง 1 ล้านล้านบาท จากการพัฒนาโรงไฟฟ้าควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้า การสำรวจและผลิตปิโตรเลียม การพัฒนาระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อ การขยายโครงข่ายท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และการลงทุนขยายท่าเรือรับส่งก๊าซปิโตรเลียมเหลวหรือ LNG Receiving Terminal รวมทั้งการปลดล็อกกฎระเบียบ ใบอนุญาต การแก้ไขปัญหาผังเมือง ส่งผลให้เกิดการลงทุนพลังงานต่อเนื่อง โดยมีการจ่ายไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเข้าระบบสูงถึง 2,213 เมกะวัตต์ คิดเป็นมูลค่า 139,739 ล้านบาท ซึ่งภาพรวมการลงทุนทั้งหมดที่เกิดขึ้น ได้ช่วยให้เกิดการสร้างงานตั้งแต่ระดับวิศวกรไปจนถึงภาคการเกษตร เกิดการสร้างรายได้ให้แก่ประเทศต่อเนื่อง
3. กระทรวงพลังงานได้เปิดมิติด้านประชารัฐ โดยส่งเสริมการลงทุนพลังงานทดแทนในระดับชุมชน เพื่อลดรายจ่ายและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าการเกษตร ซึ่งได้ช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ภาคการเกษตร ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้ดำเนินการ อาทิ โครงการสนับสนุนระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ ที่อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก จนเกิดสินค้าประชารัฐที่สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนเพิ่มขึ้น รวมทั้งการทำให้สินค้าเกษตรอื่นๆ เช่น เยื่อไผ่ ลำไย มะม่วง มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเช่นกัน การส่งเสริมนำมูลสัตว์ น้ำเสีย ขยะ มาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ เพื่อทดแทนการใช้ก๊าซหุงต้มในครัวเรือน ก็ได้ช่วยให้ชุมชนหลายแห่งทั่วประเทศ สามารถลดรายจ่ายด้านพลังงานและมีรายได้เพิ่มขึ้นเช่นกัน
4. เกิดการวางรากฐานด้านพลังงานในระยะยาว จากการริเริ่มจัดทำแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว (พ.ศ.2558-2579) ขึ้นเป็นครั้งแรก และได้เชี่อมโยงข้อมูลแผนทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ ไฟฟ้า พลังงานทดแทน อนุรักษ์พลังงาน ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมัน ซึ่งจะนำไปสู่ความมั่นคงด้านพลังงาน โดยภายใต้แผนฯ ดังกล่าวนอกจากจะตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยมีการใช้พลังงานทดแทนทั้งจากไฟฟ้า ความร้อน และภาคขนส่งเพิ่มขึ้น 30 % เกิดการลดใช้พลังงานลง 30% ในปี 2579 เกิดการกระจายแหล่งเชื้อเพลิงอย่างสมดุลย์ในการผลิตไฟฟ้าแล้ว ในอนาคตจะเกิดโครงการสำคัญที่พาประเทศไทยไปสู่ เมืองอัจฉริยะ (Smart Cities – Clean Energy) ซึ่งจะเกิดการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนควบคู่ไปด้วย อาทิ โครงการไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) โครงการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และโครงการส่งเสริมระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) เป็นต้น