ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ธรรมาภิบาล ย้อนกลับ
คุก 40 ปี ชดใช้ 3.7 ล้าน.! อดีตเจ้าพนง.บัญชี อบต.บึงเสนาท ปลอมเช็ค16 ฉบับ เบียดบังเงินหลวง
08 ธ.ค. 2563

ป.ป.ช.เผยแพร่ความคืบหน้าคดีกล่าวหา 'อุไร อยู่เย็น' อดีตเจ้าพนักงานบัญชี อบต.บึงเสนาท นครสวรรค์ ปลอมเช็ค 16 ฉบับ ถอนธนาคารเบียดบังเป็นของตนเอง ล่าสุด ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 6 พิพากษาลงโทษ จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 16 กระทง เป็น 80 ปี รับสารภาพ ลดโทษให้เหลือ 40 ปี ชดใช้ 3,712,000 บาท

สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่ความคืบหน้าคดีกล่าวหา นางอุไร อยู่เย็น เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงานการเงินและบัญชี 5 องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บึงเสนาท จังหวัดนครสวรรค์ ปลอมเช็คของ อบต.บึงเสนาท จำนวน 16 ฉบับ นำไปถอนเงินจากธนาคารแล้วเบียดบังไปเป็นของตนเอง ซึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 157, 161, 266 (4) และ 268 ประกอบมาตรา 90 และ 91 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา

ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 6 พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามมาตรา 147, 161, 266 (4) และ 268 ลงโทษฐานเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามมาตรา 90 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงไปตามมาตรา 91 จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 16 กระทง เป็นจำคุก 80 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้คงจำคุก 40 ปี ให้จำเลยคืนเงินหรือใช้เงินจำนวน 3,712,000 บาท แก่ผู้เสียหาย

อย่างไรก็ดี สำหรับคดีนี้ยังไม่สิ้นสุด จำเลยมีสิทธิต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้อีกได้ เบื้องต้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีการประชุมเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563 ได้พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบในการที่อัยการสูงสุด (อสส.) จะไม่อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 6

สำหรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท

มาตรา 161 ระบุว่า ถ้ากลฉ้อฉลเป็นแต่เพียงเหตุจูงใจให้คู่กรณีฝ่ายหนึ่งยอมรับข้อกำหนดอันหนักยิ่งกว่าที่คู่กรณีฝ่ายนั้นจะยอมรับโดยปกติ คู่กรณีฝ่ายนั้นจะบอกล้างการนั้นหาได้ไม่ แต่ชอบที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากกลฉ้อฉลนั้นได้

มาตรา 266 ระบุว่า ผู้ใดปลอมเอกสารดังต่อไปนี้ (1) เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ (2) พินัยกรรม (3) ใบหุ้น ใบหุ้นกู้ หรือใบสำคัญของใบหุ้นหรือใบหุ้นกู้ (4) ตั๋วเงิน หรือ (5) บัตรเงินฝาก ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท

มาตรา 268 ระบุว่า ผู้ใดใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามมาตรา 264 มาตรา 265 มาตรา 266 หรือมาตรา 267 ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคแรกเป็นผู้ปลอมเอกสารนั้น หรือเป็นผู้แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความนั้นเองให้ลงโทษตามมาตรานี้แต่กระทงเดียว

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...