นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่จังหวัดชลบุรี เพื่อหารือร่วมกับผู้บริหารบริษัท คิงส์ แพ็คฯ และเลขาธิการ ศอ.บต.ในการนำเยาวชนจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาทำงานในสถานประกอบการตามโครงการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเป็นระบบ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ณ บริษัท คิงส์ แพ็ค อินดัสเตรียล จำกัด (มหาชน) ตั้งอยู่ที่ตำบลหนองไม้แดง อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี โดยมี นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พลเรือตรีสมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พร้อมด้วยจัดหางานจังหวัดชลบุรี เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย คุณทวี จุลศักดิ์ศรีสกุล ผู้บริหารระดับสูง บริษัท คิงส์ แพ็คฯ ให้การต้อนรับ โดยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการมีงานทำเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด -19 ให้กลับมามีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้ และระบบเศรษฐกิจฟื้นตัวโดยเร็ว ซึ่งกระทรวงแรงงาน ภายใต้การกำกับดูแลโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กำกับดูแลศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมการจ้างงานโดยเฉพาะเยาวชนส่วนใหญ่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่มีงานทำ ซึ่งโครงการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเป็นระบบ กระทรวงแรงงาน ได้ดำเนินการนำร่องในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีมาแล้ว ในวันนี้จึงมาหารือกับผู้บริหารบริษัทฯ และเลขาธิการ ศอ.บต.โดยตรงเพื่อให้การเคลื่อนย้ายแรงงานมีระบบเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งการดำเนินการครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง ศอ.บต.และหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงาน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาการตกงาน ว่างงาน ของประชาชนในพื้นที่และแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน รวมถึงการขยายตลาดแรงงานในภาคตะวันออกได้เป็นอย่างดี
นายสุเทพ กล่าวต่อว่า สำหรับกรณี บริษัท คิงส์ แพ็คฯ ถือว่าโชคดีที่ไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด -19 ไม่มีการเลิกจ้าง แต่กลับมีความต้องการแรงงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการหารือในครั้งนี้เพื่อที่จะสำรวจความต้องการ ความพร้อมของสถานประกอบการ เพื่อนำผู้ว่างงานจาก 3 จังหวัดเข้ามาทำงานที่สถานประกอบการในจังหวัดชลบุรีถือเป็นจุดเริ่มต้นในการเตรียมความพร้อมก่อนที่จะนำผู้ว่างงานจากจังหวัดชายแดนใต้เข้ามาทำงานในสถานประกอบการ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน การขยายตลาดแรงงานจากภาคใต้สู่ภาคตะวันออก และการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเป็นระบบอีกด้วย